cujrnewmedia

Just another WordPress.com site

สื่อใหม่ : เหล้าเก่าในขวดใหม่ ( The old Whisky in new bottles ) นิติธร สุรบัณฑิตย์

สื่อใหม่ : เหล้าเก่าในขวดใหม่ ( The old Whisky in new bottles ) นิติธร สุรบัณฑิตย์

 

                เดือนตุลาคม พ.ศ.2552 นางคอลลีน ลาโรส วัย 57 ปี หญิงชาวรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐ ถูกจับกุมในข้อหาสมคบก่อเหตุฆาตกรรมในต่างแดน ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย ปลอมแปลงรายงานการเงิน และพยายามขโมยหนังสือเดินทาง หลังจากที่เธอใช้ชื่อ จีฮัดเจน ในการประกาศรับสมัครนักรบหัวรุนแรงผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อก่อการร้ายในสหรัฐ ยุโรปและเอเชีย  และวางแผนสังหารนายลาร์ส วิลค์ ศิลปินชาวสวีเดนที่เคยวาดภาพการ์ตูนดูหมิ่นพระศาดามูฮัมหมัด โดยเธอใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในการติดต่อกับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมแผนการโจมตีจากทั่วโลก
                คำฟ้องร้องต่อศาลสหพันธ์รัฐบาลกลางในรัฐเพนซิลเวเนียระบุว่า นางลาโรส แสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ youtube.com เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ว่า ต้องการช่วยเหลือประชาชนชาวมุสลิมที่กำลังทนทุกข์ทรมาน และได้ส่งอี-เมลล์ไปยังผู้สมรู้ร่วมคิดคนหนึ่งเสนอเป็นผู้เสียสละ และใช้สัญชาติอเมริกันของตนเพื่อไม่ให้ตรวจพบ ต่อมานางลาโรส ตกลงที่จะแต่งงานกับผู้สมรู้ร่วมคิดจากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และชายผู้สมรู้ร่วมคิดแนะนำให้เธอเดินทางไปสวีเดน เพื่อตามหาและสังหารศิลปินผู้นั้น โดยเขามีค่าหัวจากกลุ่มก่อร้ายที่ร่วมมือกับการประกาศรับสมัยผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ สามล้านกว่าบาท  ซึ่งผู้ต้องสงสัย 7 คน ถูกจับกุมฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนสังหารนายวิลค์ โดยผู้ต้องสงสัยเป็นชาย 4 คน และหญิง 3 คน ในเมืองโคร์ค และวอเตอร์ฟอร์ด ทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ ในการปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐและยุโรป
                นี่แสดงให้เห็นว่า อินเตอร์เน็ต หรือสื่อใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการก่อการร้าย
                แต่คือ สังคมเสมือน ที่ผู้ก่อการร้ายสามารถใช้เตรียมการ ดำเนินการ สร้างสมาชิกในสังคมของพวกเขา สร้างลัทธิ และจิตวิญญาณ และเก็บแรงกดดันจนสลายสู่สังคมจริงในที่สุด
                ปัญหาสังคมเสมือนด้านร้ายกาจ ( The Dark of Community Simulation ) แท้จริงแล้วก็หยิบเอาสังคมจริงเข้าไปไว้ทั้งหมด สมาชิกในสังคมจริงถูกโอนเข้าไป ผ่านนวัตกรรม และพัฒนาการของเทคโนโลยี ไม่เว้นแม้แต่ เด็ก ดังเกิดเหตุการณ์อาชญากรรมจากเกมส์ในสหรัฐอเมริกาหลายครั้งที่ผ่านมา โดยดักลาส เจนเทิล (Douglas Gentile , journal Psychological Science)  นักจิตวิทยาผู้ทำงานมหาวิทยาวิทยาลัย ไอโอวา สเตจ ซึ่งทำการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กเล่นเกม พบว่าเด็กอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 8-18 ปี จำนวนร้อยละ 8.5 มีสัญญาณบ่งบอกหลายอย่างว่ามีพฤติกรรมติดเกมอย่างหนัก ซึ่งร้อยละข้างต้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประชากรจริงก็เท่ากับมีเด็กติดเกมอยู่ประมาณ 3 ล้านคน โดยตัวอย่างที่พบคือ การขโมยเกมหรือขโมยเงินผู้ปกครองเพื่อมาซื้อเกม  เกิดอาการหงุดหงิดเมื่อได้เล่นเกมในระยะเวลาที่น้อยลง , และ มักจะมีพฤติกรรมโกหกผู้ปกครองว่าไม่ได้เล่นเกมในระยะเวลาอันยาวนาน  หรือข้อมูลในประเทศไทยเองเกี่ยวกับการเล่นเกมส์กับอาชญากรรมจากตัวอย่างคดีในท้องที่ต่างๆ พบว่ามีเหตุทำร้ายร่างกาย และปล้นทรัพย์ ในท้องที่ สน.บางขุนเทียน ขณะที่ผู้เสียหายกำลังเอาแต้มแร็คน่าร๊อคจำนวน 75 ล้านเพนนีเกม ไปขายให้คนร้ายที่มากัน 5 คน ในราคา  15,000 บาทจริง (3 ก.ค 2546) หรือในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่18 ก.ค 2546 ตำรวจจับกุมวัยรุ่น 2 คน ที่ใช้ท่อนไม้ตีหัวเหยื่อชิงสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ซึ่งคนร้ายรับสารภาพว่าจะเอาเงินไปเล่นแร็คน่าร๊อค (Ragnarok) ซึ่งเป็นเกมส์ออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
                  แท้จริงแล้ว อาจเป็นเรื่องปกติ (ทั้งที่เราไม่อยากให้เป็นเรื่องปกติ) เทคโนโลยีสื่อใหม่โดยเฉพาะการก่อกำเนิดของเว็บ 2.0 ได้สร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้คน จนกลายเป็น สังคมออนไลน์ หรือสังคมเสมือน เพราะสังคมจริงนั้นมีทั้งเรื่องดี และไม่ดี ย่อมไม่แปลกที่สมาชิกสังคม “เดิม” สร้างสังคมใหม่ ในเมื่อคนเดิมกลุ่มเดิม มาอยู่ในที่ใหม่ ปัญหาจึงต้องมีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เช่นตัวอย่างที่ผู้เขียนกล่าวเป็นบทนำเรื่องการก่อการร้ายผ่านอินเตอร์เน็ต และเด็กติดเกมส์ หากลองพิจารณาสังคมที่แท้ ก็จะพบว่า มีปัจจัยด้านเสียหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติด การพนัน เป็นต้น  ดังนั้นในสังคมเสมือนจึงไม่แปลกที่จะสิ่งยั่วยุเกิดขึ้นผ่านเกมส์  และไม่แปลกที่สังคมเสมือนจะเป็นมีการก่อการร้าย และดึงมวลชนเพื่อจะสร้างการก่อการร้ายจริงในสังคมจริง เป็นต้น
                ดังคำเปรียบเปรยที่คุ้นหูกันดีที่ว่า เหล้าเก่าในขวดใหม่ ( The old Whisky in new bottles )
                เมื่อย้อนไปในอดีต สื่อหรือ media เป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นเพียง “เครื่องมือ” (tools) ในการก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะอาชญากรรมประเภทสงครามอย่างชัดแจ้ง หรืออาชญากรรมทางการเมือง เช่น การปลุกกระแสทางการเมืองให้เกลียดชังคนที่ไม่ใช่เชื้อชาติเดียวกันอย่างการใช้สื่อมวลชนอย่างวิทยุในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงอย่างจงใจ และเป็นระบบให้เกิดการสังหารหมู่ชาวทูต ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา (15 % ของประชากร) ถูกฆ่าตายไปทั้งสิ้น 500,000 คนในปีคริสต์ศักราช 1994 (ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล 2553) เป็นต้น
                พัฒนาการการเทคโนโลยีจนทำให้เกิด สื่อใหม่ (new media) ไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ แต่ได้ปรับเปลี่ยน สื่อ จากเครื่องมือ ธรรมดา ให้กลายเป็น สังคมเสมือน ที่อานุภาพต่างๆสามารถกระจุกตัวอยู่ในนั้น และสามารถส่งแรงกระเพื่อมภายในให้ออกมายังสังคมที่แท้จริงได้ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า หากกระแสการเกลียดชังชาวยิวในสมัยช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในเยอรมัน เกิดขึ้นผ่านสื่อใหม่นั้น คิดดูว่าความรุนแรงจะขยายวงกว้าง และมากขึ้นแค่ไหน ฮิตเลอร์อาจใช้เฟสบุ๊ก และยูทูปส่วนตัว ในการขยายอิทธิพลทั่วทั้งโลก เขา(คนเดิม) สามารถใช้ท่าทีบุคลิกอันทรงเสน่ห์ และพลัง ผ่านพื้นที่ใหม่ (new space)  แน่นอนว่า ต้องเกิดกระแสคลั่ง หลงใหล ตอบรับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การต่อต้าน” (เนื่องจากผู้ที่ใช้ชาวอารยันชนชาติเดียวกับฮิตเลอร์ ก็มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เช่นกัน เช่น ชาวยิว เป็นต้น) ซึ่งก่อให้เกิดการปะทะ(clash) และอาจส่งผลกระทบ และแรงกระเพื่อมที่มากกว่าเดิม และขยายวงกว้างมากขึ้น หรือการก่ออาชญากรรม ผู้ก่อการร้ายอาจใช้เทคโนโลยีสื่อใหม่ ในการรวมตัว และวางแผน ในฐานะสังคมเสมือน และใช้ในฐานะเครื่องมือในการปฏิบัติการในสังคมจริงได้อีกด้วย
                เรามาลองคิดดูละกันว่า 12 ล้านคน ผู้ใช้ เฟสบุ๊กในประเทศไทย
                จะทำอย่างไร  ??
                และหากพิจารณาตัวอย่างที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเป็นบทนำไว้ข้างต้นแล้ว จะพบว่าแรงกระเพื่อมย่อมส่งผลกระทบมากกว่า ในวงกว้างมากกว่า  พูดง่ายๆว่า เครื่องมืออย่างการเล่นเกมส์มีผลเสียมากกว่าในตัวมันเองอยู่แล้วหากเราไม่ถูกวิธี และเด็กไทยก็อาจเจอปัญหาเดียวกันนี้กับเด็กอเมริกัน ซึ่งตรงกันข้ามช่วงเวลาที่สื่อใหม่ยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ จากกรณีศึกษาที่สำคัญของจีน ที่ของเล่นมีสารเมลามีน ซึ่งปัญหาก็กระจุกตัวเฉพาะประเทศจีนเอง และประเทศที่นำเข้า ไม่ได้กระเทือนไปยังเด็กที่เล่นของเล่นอย่างอื่นในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้นำเข้าสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด
                ทำให้ปัญหาเดียวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดมิติด้านพื้นที่ และเวลา (time&space)
                ซึ่งเป็นทั้งข้อดี และข้อเสีย


                ในปัจจุบัน เราจะพบว่า การกระทำอาชญากรรม หรือการก่อความรุนแรงผ่านอินเตอร์เน็ตหรือสื่อใหม่ ก็ก้าวเป็นจังหวะกระโดดเท่าตัวคู่ขนานกับพัฒนาการของสื่อใหม่ตลอดเวลา (หรือในบางครั้งพวกก่อการร้ายก้าวไปไกลกว่า ในการสร้างเทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อใหม่มารองรับนั่นเอง)  แม้จะมีข้อถกเถียงให้เห็นอยู่ว่า สื่อย่อมเกิดจากความต้องการของคนในสังคม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็จะพบว่าเรื่องราวไม่ได้จบแค่นั้น หรือพูดง่ายๆว่า คิดดีแล้ว และทำดีละ?
                คำตอบของสังคม และสังคมเสมือนจึงอยู่ที่ว่า
                กฎ และจริยธรรม รวมถึงบรรทัดฐาน (norm) ที่ควรปฏิบัติ
                กฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกจัดสร้างขึ้นมา เสมือนกับสังคมจริงที่มีจริยธรรม กฎหมาย จารีต และวิถีประชา ที่ครอบคลุมปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก เช่นเดียวกับสังคมเสมือนบนสื่อใหม่เช่นเดียวกัน หากพิจารณาถึงตัวอย่างเรื่องเด็กติดเกมส์ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างไว้ สังคมไทยมีความพยายามจากภายนอกโดยการพยายามประกาศกฎห้ามเด็กออกจากบ้านหลังสี่ทุ่มเป็นแนวทางเกริ่นๆไว้บ้าง(ซึ่งมีข้อถกเถียงอยู่) หรือ ระบุข้อปฏิบัติของเด็กและผู้ปกครองไว้ในบางมาตราของ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พุทธศักราช  2546 หรือความพยายามของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในการ พยายามหามาตรการควบคุมเกม หรือความพยายามสร้างปัจจัยภายในผ่านสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา 
                ความหวังของพวกเขาจึงอยู่ที่
                การควบคุมในภายหลัง
                ผลเสียของสื่อใหม่ก่อกระทบต่อผู้ใช้ หรือผู้มีส่วนใช้(ที่ต้องมารับปัญหาจากผู้ใช้ต่ออีกที) มีหลายกรณีมาก ซึ่งการพิจารณาผลกระทบด้านเสีย เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และง่ายต่อการเสนอแนะวิธีการแก้ไขและทางออก ควรพิจาณาควบคู่กับบริบทสังคมจริง ในฐานะที่สังคมเสมือนก็คือสังคมจริง เพียงแค่สมาชิกในสังคมเปลี่ยนพื้นที่(space)ไปเท่านั้น เช่น สังคมจริงบางที่มีอาชญากรรมมาก ไม่ว่าจะเป็นการโจรกรรม หรือการประทุษร้าย ความรุนแรงจากสมาชิกในสังคมนั้น จึงปรากฏอยู่ในสังคมเสมือนผ่านสื่อใหม่ (ในกรณีที่เครื่องมือเข้าถึงสมาชิกเหล่านั้น หรือสมาชิกที่ก่อการเห็นช่องทางกระทำการผ่านเครื่องมือ) แน่นอนว่า การควบคุมโดยรัฐก็ต้องมากขึ้นมาจนถึงสื่อใหม่ด้วยเช่นกัน
                ในแง่นี้นั้นยังมีข้อถกเถียงอยู่มาก เพราะการควบคุมโดยรัฐในสังคมจริง และสังคมเสมือนไม่เหมือนกัน ลองสังเกตง่ายๆนะครับว่า เรายอมรับกฎที่มากมายที่อยู่ในสังคมจริง สาเหตุก็เพราะว่า สังคมจริง ผู้คนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงานรู้จักเราจริง เราย่อมที่ไม่แสดงพฤติกรรมที่แปลกแหวกแนวไปจากคนอื่น แต่สังคมเสมือนผ่านสื่อใหม่นั้นเป็นสังคมแห่งการแสดงออกที่บางครั้งขาดการระบุตัวตน หรือเปิดเผยตัวตนบางส่วน ผู้ใช้มีจึงไม่พอใจหากมีกัดกั้นการพูด หรือการแสดงออกแม้ว่ามันจะเกินเลยหากเทียบกับสังคมจริงไปมาก และที่สำคัญคือ การใช้สื่อใหม่นั้นเราสามารถแสดงตัวตนที่เหนือกว่าที่ไม่เคยมีใครได้เห็น  ข้อถกเถียงนี้จึงมีความลักลั่นในแง่ของสิทธิความเป็นส่วนตัว และความมั่นคงของส่วนรวม เช่นในกรณี วาทะแห่งความเกลียดชัง หรือ hate speech หรือในบางกรณีก็จบลงที่การแก้ไขกฎที่มีอยู่จริงในสังคมก่อน (ความพยายามในแก้ไขมาตรา 112 และปัญหาของพระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550) เป็นต้น
                ผลเสียของสื่อใหม่สร้างผลกระทบในมิติสังคมและวัฒนธรรมค่อนข้างชัดเจนมาก โดยเฉพาะหากเราจับจ้องในแง่มุมของการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเห็นได้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมมักเริ่มมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีโดย แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ย่อมมาจากความต้องการของสังคมก่อน จากกรณีตัวอย่างที่ผู้เขียนยกไว้ดังกล่าว โลกเสมือนจริงผ่านสื่อใหม่ สังคมจึงเกิดการระแวดระวังภัยมากขึ้น แต่น่าเสียดายสังคมกลับไม่ได้มองว่า ปัญหาเหล่านั้นอยู่ที่สมาชิก หรือผู้ใช้ แต่มักมองว่าเป็นปัญหาข้อเสียจากเทคโนโลยี ซึ่งการมองในวิถีดังกล่าวอาจทำให้การแก้ปัญหาอาจไม่สำเร็จ และขัดแย้งในตัวมันเองได้ พวกเขาจึงพยายามสร้างข้อตกลง หรือข้อบังคับมาควบคุม
                ดังนั้น กฎหรือบรรทัดฐาน (norm) ที่เราผลักดันให้เกิดในสังคมออนไลน์ (ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย พระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550) จึงถูกผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อมาควบคุมการก่ออาชญากรรมหรือความรุนแรงผ่านสื่อใหม่ เหมือนสังคมจริงที่มีกฎหมายมาควบคุม และแน่นอนกฎหมายอาจไม่ได้ยุติธรรมกับทุกคน และโดยเฉพาะผู้ใช้สื่อใหม่ที่มีลักษณะความเป็นสมาชิกของสังคมที่พิเศษกว่าแล้ว ย่อมเป็นปัญหาแน่นอน

 

                แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น กลไกของสังคมเสมือนอย่างสื่อใหม่มีพลังและอำนาจพิเศษที่สามารถปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์สังคมในโลกจริงได้ เช่น ปัญหาการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายสำหรับปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หากพิจาณาดูจากสถิติก็จะพบว่าในอดีตที่ยังไม่มีสื่อใหม่ การดำเนินคดีน้อยมาก แต่หลังปี 2546 ที่สังคมออนไลน์ได้รับความสนใจพร้อมๆกับความขัดแย้งทางการเมือง การดำเนินคดีเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และหลังจากนั้นก็มีความพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบันโดยเฉพาะมาตรา 14                ที่ถูกอภิปรายว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็กระทำการเกินกว่าข้อกำหนดของกฎหมายดังการรณรงค์ของผู้ใช้(user) ที่รวมกันเป็นภาคประชาสังคมที่รู้จักกันดีอย่าง เครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thainetcitizen ที่เคยเรียกร้องการกดไลค์ (like) บนสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก (facebook) ไม่ใช่การกระทำอาญากรรม หรือมีสโลกแกนเรียนกสั้นๆว่า “ กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม ”


                มิติทั้งเรื่องสังคม และกฎหมายย่อมกระทบต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ผู้เขียนศึกษาอยู่และใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพนี้ การก่ออาชญากรรมและความรุนแรง หรือผลเสียของสื่อใหม่ ทำให้เกิดแรงท้าทายในหลายมิติของสื่อเอง ทั้งกระบวนการทำงาน รายได้ การเฝ้าระวัง การควบคุมโดยรัฐ อุดมการณ์ เป็นต้น หลายองค์กรพยายามปรับตัวให้เข้ากับสื่อใหม่ และพยายามควบคุมข้อเสียของสื่อใหม่ หรือบางครั้งก็เพิ่มข้อเสียของสังคมสื่อใหม่สะเอง บ่อยครั้งที่ข่าวออนไลน์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นผ่านองค์กรสื่อ แต่เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคล (จนสื่อนำมาเสนอต่อ) จนบางครั้งผู้ใช้พยายามกลบเกลื่อนเหตุผลไปว่า เป็นเพราะเทคโนโลยีซึ่งทำให้ลดกระบวนการทำงานในแบบฉบับของสื่อลง และความต้องการของผู้รับสารที่ต้องการความรวดเร็ว เป็นวงล้อกันไปทำให้เกิดความบกพร่องของการนำเสนอ แต่ผมมองว่าแม้เทคโนโลยีอาจช่วยลดขั้นตอนก็จริงอยู่ แต่ความสำคัญของกระบวนการทำงานที่ต้องรอบคอบก็สำคัญกว่าเสมอ และเราไม่อาจโทษเทคโนโลยีสื่อใหม่ได้เต็มปาก เพราะมันเป็นเพียงเครื่องมือที่มนุษย์(ที่ดีและไม่ดี)ไปใช้ สังคมเสมือนผ่านสื่อใหม่ จึงไม่แตกต่างอะไรกับสังคมจริง
                อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเกิดสังคมคู่ขนานที่ว่านี้ การแก้ปัญหามีความสลับซับซ้อนอยู่ค่อนข้างมาก จากตัวอย่างที่ผู้เขียนกล่าวคือเรื่องการก่ออาชญากรรมและการก่อการร้ายผ่านอินเตอร์เน็ตกับการติดเกมส์  มีทั้งสังคมจริงและสังคมเสมือนและส่งลูกรับลูกกันเป็นพลวัตร แม้ว่าเราพยายามรณรงค์แก้ไขจากสังคมจริงผ่านตัวผู้ใช้ แต่ก็พบว่าเมื่อเข้าไปในโลกสังคมเสมือนอะไรก็เกิดขึ้น แต่ผู้เขียนก็ยังมองว่า การแก้ปัญหาที่ตัวผู้ใช้ ผ่านการทำความเข้าใจกับสังคม และการคำนึงถึงสิทธิข้อมูลข่าวสารนั้น ไม่น่าจะแก้เน้นไปที่การควบคุมโดยรัฐ และการจำกัดขอบเขตของเทคโนโลยี
                สังคมสื่อใหม่ ก็เหมือนสังคมจริง ที่มีคนหรือผู้ใช้ ที่ดี และเสีย
                หากมองในแง่ด้านเสียตามโจทย์ที่ว่าแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับ
                เหล้าเก่าในขวดใหม่ นั่นเอง
               

อ้างอิงข้อมูล
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=319545
http://prachatai.com/journal/2011/11/38090
http://news.sanook.com/909347/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95/

นิติธร สุรบัณฑิตย์ 524 52535 28
ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Leave a comment »

การขจัดตัวตนบนโลกออนไลน์ #ปาจรีย์ ไตรสุวรรณ 5245255828

การขจัดตัวตนบนโลกออนไลน์

การสื่อสารในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การสื่อสารโดยการเจอหน้าหรือได้ยินเสียงของคู่สนทนาเพียงแค่อย่างเดียว แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การสื่อสารสามารถทำได้ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารโดยมีอุปกรณ์เป็นศูนย์กลาง เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และ แท็บเล็ตต่างๆ ทำให้โครงสร้างสังคมทางการสื่อสารได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถึงแม้ว่าการสื่อสารจะสะดวกสบายขึ้นในทุกๆด้าน แต่การสื่อสารในยุคสมัยนี้ก็ยังมีข้อเสียที่น่าสังเกตอยู่จุดหนึ่ง ว่าการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ๆกำลังทำให้สังคมวิจารณ์สิ่งต่างๆรุนแรงได้อย่างไร หลายคนอาจเคยได้ยินว่าคนเดี๋ยวนี้มีความคิดอ่านที่รุนแรงขึ้นกว่าแต่ก่อน ตัวผู้เขียนได้ลองพิจารณาดูแล้วและพบว่าสื่อใหม่สามารถกระตุ้นความรุนแรงในสังคมได้จริง

จากกรณีข่าวต่างๆที่เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม เช่น กรณีของ นางสาวแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไฮโซวัยรุ่น ที่ก่อเหตุขับรถชนรถตู้ที่มีผู้ด้วยสารบนทางด่วย ทำให้ผู้โดยสารภายในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส และผู้โดยสารบางส่วนกระเด็นออกนอกรถตู้ตกลงไปด้านล่างจนเสียชีวิต เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนอินเตอร์เน็ตอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบนหน้า Facebook ที่มีการจัดตั้งเพจ ‘มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวา(อรชร) เทพหัสดิน ณ อยุธยา’ ซึ่งยอดกดการไลค์พุ่งขึ้นถึงหนึ่งแสนภายในเวลาไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ และยอดผู้กดไลค์คงที่ที่ 313,257 หลังจากเกินเหตุราว 2 เดือน ซึ่งในหน้าเพจ มีการแสดงความเห็นที่รุนแรง โดยการโพสต์ข้อความที่รุนแรงและด่าทอโดยผู้ใช้ทั่วไปที่มากดไลค์ ซึ่งการแสดงความเห็นของมวลชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การกระทำที่รุนแรงเช่นนี้ สมควรเป็นที่ยอมรับหรือไม่ และเหตุใดจึงมีความรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นมากมายบนอินเตอร์เน็ต ทั้งกรณีของน้องก้านธูป ซึ่งทำให้น้องก้านธูปถูกตัดสิทธิ์การเข้าศึกษาในสถาบันบางแห่ง กรณีของนักการเมือง หรือแม้แต่กรณีสถาบันกษัยตริย์ เช่น เพจ ‘ไอ้เหี้ยภูมิพล’ ที่ปัจจุบันถูกลบไปและตามจับแล้ว จากกรณีที่กล่าวมา เราเห็นอะไรจากความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ตบ้าง

การสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า Computer-Mediated Communication (CMC) เป็นรูปแบบอย่างกว้างๆที่สามารถกำหนดการติดต่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปหรือเป็นเครือข่ายบนคอมพิวเตอร์ เป็นการสื่อสารปฏิสัมพันธ์แบบไม่ต่อเนื่องกันผ่านเครื่อข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งในบางครั้งอาจมีข้อความในด้านลบ การสื่อสารแบบ CMC อาจมากหรือน้อยเกินไปในบางครั้ง

การสื่อสารแบบ CMC สามารถส่งผลในแง่ลบได้ เนื่องจากการอยู่เบื้องหลังหน้าจอคอมพิวเตอร์ทำให้เราเกิดการ ‘ลดทอนความเป็นตัวตน’ ของตัวเองลง เรียกว่าพฤติกรรมไม่เป็นตัวเอง (Deindividuation) ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมที่เกิดจากสภาพจิตใจของบุคคลเมื่ออยู่ในกลุ่มแล้วจะมีความรู้ตัว (Awareness) น้อยลงกว่าปกติ ทำให้ขาดความสามารถในการวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์รอบตัวอย่างมีสติสัมปชัญญะ ความคิดและความสามารถในการใช้เหตุผลไตร่ตรองจะลดลง และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างซึ่งในเวลาปกติจะไม่ก่อพฤติกรรมเช่นนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ถูกแสดงออกตามสิ่งเร้าในสถานการณ์อย่างปราศจากการไตร่ตรอง ความรุนแรงของพฤติกรรมจึงมีมากกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของคนในขณะที่มีการจลาจล คนที่อยู่ในเหตุการณ์จะกระทำการหลายอย่าง ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือ เมื่อแก๊งค์เด็กแว๊นเกิดความคึกคะนองมากๆก็จะพากันไปก่อหตุ แต่เมื่อเวลาอยู่คนเดียวจะไม่กล้าทำการใดๆโดยลำพัง แต่การจะเกิด Deindividuation มีเงื่อนไขบางประการ ซึ่งทุกเงื่อนไขไปทำให้ให้ความรู้สึกตัวเองลดลง โดยเงื่อนไขเหล่านั้นได้แก่

• การที่คนในกลุ่มคิดว่าตนเองสามารถปกปิดเอกลักษณ์ของตนได้จนทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า ไม่มีใครที่อยู่นอกไปจากกลุ่มคนที่สนิทสนมของตนรู้จักหรือจำตนเองได้ ดังนั้นถ้ายิ่งคนในกลุ่มแต่งกายเหมือนกันมีการปิดหน้า ปิดชื่อ ยิ่งจะทำให้เกิดอาการเช่นนี้เพิ่มขึ้น เช่น ปัญหานักเรียนนักศึกษาตีกัน

• การที่จิตใจและอารมณ์ได้รับการกระตุ้นเร้าอย่างรุนแรง

• การเพ่งจุดสนใจออกไปสู่เหตุการณ์อื่นๆที่อยู่นอกตัวเองออกไปจนทำให้ไม่นึกถึงตนเองและผลกระทบ

•การได้อยู่ในกลุ่มที่มีความคิดสนิทสนมกัน มีความเห็นไปในทางเดียวกัน และแสดงออกมาอย่างมีเอกภาพ

จะเห็นได้ว่าการสื่อสารแบบ CMC มีปัจจัยที่ครอบคลุมอยู่ในการ Deindividuation อยู่ 3 ข้อ คือ 1. การปกปิดอัตลักษณ์ของตนเอง 2.การถูกกระตุ้น และ 3.การที่สมาชิกในสังคมนั้นๆมีีความกลมเกลียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยเหล่านี้ คือการแสดงความคิดและการโพสต์ภาพเห็นอันรุนแรงลงบนหน้าอินเตอร์เน็ต การแสดงออกใดๆอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงๆของผู้ที่เขียน แต่เป็นเพระทุกคนบนกลุ่มสังคมออนไลน์เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน จึงมีอารมณ์ร่วมกัน แล้วยิ่งถ้าเห็นการแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันมากๆ ก็ย่อมเสริมสร้างความรุนแรงให้แก่กันและได้ เพราะภาพที่เห็น คือการแสดงความเป็นเอกภาพของชุมชน และยิ่งไปกว่านั้น บนโลกออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเราเสมอไป เราอาจเป็นใครก็ได้เท่าที่เราจะอยากเป็น เราอาจใช้ชื่อปลอม รูปปลอม หรือแม้แต้ข้อมูลส่วนตัวปลอมเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริง หรือเพื่อเป็นคนใหม่ที่เราอยากจะเป็น เราจึงรู้สึกว่าเราจะไม่ใช่ตนเองบนโลกออนไลน์ และจะไม่มีใครสามารถจดจำเราบนโลกออนไลน์ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการลดทอนความเป็นตัวเองบนโลกอินเตอร์เน็ตมีให้เห็นหลายกรณี โดยผู้เขียนแยกย่อยเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1. Anti-page และ 2.Cyber Bullying ซึ่งการกระทำดังกล่าวเมื่อกระทำโดยขาด self-awareness จะส่งผลให้กลายเป็นการกระทำที่หยุดไม่อยู่และส่งผลที่ร้ายแรงตามมาได้

ตัวอย่างของ Anti-Page หรือ ศูนย์รวมของความเกลียดชังมีให้เห็นได้ทั่วไป คนมักเข้าไปโพสต์ข้อความเพื่อความสนุกสนานส่วนตัว ที่เกิดจากความคึกคะนองที่ได้เห็นความเป็นเอกภาพของสมาชิกในสังคม และสามารถทำได้โดยไม่ถูกตามจับ จุดประสงค์ของ Anti-Page มีเพียงแค่การระบายและแบ่งปันความเกลียดชังเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการล้อเลียนหรือการแกล้งกัน

ภาพ'การลงโทษน้องสาว' ตัวอย่างความเป็น Internet meme ของเพลง Friday

ด้านกรณี Anti-page นั้นมีให้เห็นโดยทั่วไป เช่น การสร้างกลุ่มผู้เกลียดชังนักร้องวัยรุ่น Justin Bieber ซึ่งมีทั้ง Page บน Facebook หรือ เว็บบอร์ดตามเว็บไซต์ต่างๆ หากเราลองเสิร์ช Page จาก Facebook ว่า Hate Justin Bieber ก็จะพบว่ามีผลลัพธ์ที่เป็น Anti-Page จำนวนมาก และแต่ละ Page มีสมาชิกมากกว่า 1,000

อีกกรณีหนึ่งที่น่าศึกษา คือกรณีของ Rebecca Black เด็กสาววัยรุ่นที่จ้างบริษัทเล็กๆมาทำเพลงของตนเองโดยใช้ชื่อเพลงว่า ‘Friday’ และโพสต์ลงบนเว็บไซต์ Youtube ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน ยอด view ก็พุ่งสูงถึง 1 ล้าน จนถึงปัจจุบันมียอด view อยู่ที่ 18,691,920 views เพลงของ Rebecca ถูกโลกไซเบอร์ตีตราว่าเป็น ‘เพลงที่ห่วยแตกที่สุด’ มีการคอมเมนต์คลิปในยูทู้ปด้วยข้อความด่าทอแลพดูถูกเหยียดหยาม และยังมีการสร้างกระแสต่อต้านโดยการสร้างหน้าเว็บขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเว็บบอร์ดหรือ fan page บน Facebook ในที่สุด Rebecca Black และเพลง Friday ก็ได้กลายเป็น Internet Meme ที่ยังเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งชื่อ Rebecca และ ชื่อเพลง ถูกใช้เพื่อแสดงถึงความ ‘ห่วย’ และ ‘ความปวดโสตประสาท’ สำหรับตัว Rebecca เองที่เป็นเพียงวัยรุ่นอายุ 14 ที่ต้องเจอกับกระแสต่อต้านที่มากขนาดนี้ ตัวเธอเองยอมรับว่าหลังจากที่กลายเป็นบุคคลโด่งดัง ชีวิตของเธอทั้งหมดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การใช้ชีวิตเหมือนตัวตลกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โชคยังดีที่เธอยังมีครอบครัวที่อบอุ่น พร้อมจะเข้าใจและเป็นแรงผลักดันที่ดี ทำให้ชีวิตของเธอไม่ย่ำแย่จนถึงขนาดคิดฆ่าตัวตาย

กรณีของ Rebecca Black ยังนับเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง เนื่องจากกระแส

Anti-Page ต่อต้าน Rebecca Black

อินเตอร์เน็ตไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออนาคตของตัวเธอเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับกรณีของ ‘น้องก้านธูป’ ที่ถูกกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงบนอินเตอร์เน็ต จนกระแสสังคมกดดันให้ถูกตัดสิทธิ์การเข้าเรียนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยที่ในขณะนั้น ก้านธูปยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีใดๆ

และกรณีตัวอย่างของ Cyber Bullying มีเด็กจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาที่กดดันเพราะถูกกลั่นแกล้งผ่าน Social Media Alexis Pilkington เด็กสาวอายุ 17 จาก Long Island ตัดสินใจฆ่าตัวตายภายในห้องนอนของตนเองหลังจากตกเป็นเหยื่อของการ Cyber Bullying มานาน Alexis เป็นเด็กน่ารัก ฉลาด และนิสัยดี เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆคน และยังเป็นทั้งนักฟุตบอลฝีมือดีที่เพิ่งได้รับทุนกีฬาประเภทฟุตบอลไปศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ Dowling College ซึ่ง Alexis กำลังจะได้เข้าไปเป็นนักศึกษาใหม่ในปลายปีนั้น ถึงแม้ว่า Alexis จะตายไปแล้ว แต่ข้อความก่อกวนไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก แม้แต่ในหน้า Fanpage ของ Facebook ที่ถูกสร้างมาเพื่อรำลึกถึงการตายของเธอก็ยังถูกระราน ตลอดเวลาที่ Alexis ถูกก่อนกวน การก่อกวนโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนหน้า Facebook และข้อความเกือบทั้งหมดถูกโพสต์โดยบัญชี Facebook ปลอมที่ถูกสร้างมาเพื่อก่อกวน Alexis โดยเฉพาะ     Alexis ถูกกล่าวหาว่าเป็นเลสเบี้ยน และถูกคุมคามด้วยข้อความทางเพศที่หยาบคาย รวมทั้งถูกนำรูปส่วนตัวไปตกแต่ง เช่น ถูกนำไปตกแต่งให้เป็นรูปโดนแขวนคอ และยังมีการสร้างบัญชี Facebook ปลอมนำรูปและชื่อของ Alexis ไปใช้ และนำไปเข้าร่วมกลุ่มประเภทวิปริตทางเพศ จากเหตุการณ์ต่างๆทำให้ Alexis เกิดความเครียดจนฆ่าตัวตาย แต่ทางครอบครัวของเธอไม่ได้คิดว่าการล้อเล่นออนไลน์จะส่งผลเพียงพอให้ Alexis ฆ่าตัวตาย แต่การล้อเลียนที่เกิดขึ้นอาจส่งผลไปยังความสัมพันธ์ของตัว Alexis และเพื่อนๆในชีวิตจริงมากกว่า

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือกรณีของเด็กชาย Ryan Patrick Halligan ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่ออายุเพียงแค่ 13 เนื่องจากตกเป็นเหยื่อ Cyber bullying ซึ่งการล้อเลียนบนโลกออนไลน์ทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริงหนักขึ้นทุกวัน สำนักข่าว AP รายงานว่า Ryan ถูกคุกคามโดยการส่งข้อความประเภท Instant Message จำพวก Chat ซึ่งเขาโดนกล่าวหาว่าเป็นเกย์ การที่ Ryan เป็นเด็กที่ขี้อายและไม่สู้คนประกอบกับปัญหาด้านการเรียนรู้ ย่ิงที่ทำให้ Ryan กลายเป็นเป้านิ่งในการกลั่นแกล้ง เมื่อ Ryan ได้เลื่อนชั้น เขาต้องไปเรียนอยู่ในตึกเรียนที่มีเด็กที่โต

กว่า ทำให้เขายิ่งถูกกลั่นแกล้งแรงขึ้น จนเด็กทุกคนในตึกเรียนเรียกเขาว่า ‘ไอ้ห่วย’ สุดท้ายเมื่อ Ryan ทนแรงกดดันไม่ไหว เขาจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย การตายของ Ryan ส่งผลให้เกิดการผลักดันกฏหมายการป้องกันเด็กจาก Cyber bullying ของรัฐ Vermont ให้แข็งแรงขึ้น

ความรุนแรงบนโลกออนไลน์เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจของคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทำให้สังคมเจ็บป่วย และที่น่าเป็นห่วงคือ ความรุนแรงเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในสถานศึกษา ที่ทำงาน หรือแม้แต่บนท้องถนน ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด โลกไซเบอร์จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีอิสระและมีทางเลือกในการทำร้ายกันมากขึ้น

แม้แต่ในประเทศไทย ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดของปัญญาสมาพันธ์ฯบ่งบอกว่า เยาวชนเกือบร้อยละ 50 ยอมรับว่าตนเองถูกรังแกผ่านสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกนินทาหรือด่าทอผ่านโทรศัพท์มือถือ ห้องสนทนาทางเว็บไซต์ ได้รับข้อความก่อกวนทางโทรศัพท์มือถือ อีเมล หรือเว็บไซต์

การกระทำตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นการสร้างภาพความรุนแรงที่เกินจริงในสังคม และทำให้เกิดการหล่อหลอมคนในสังคมให้กลายเป็นคนที่มีความคิดที่รุนแรงขึ้นตามลำดับของการแสดงออกบนสื่อออนไลน์

ผลการสำรวจในปัจจุบันพบว่าการสื่อสารแบบมีคอมพิวเตอร์เป็นศูนย์กลาง เพิ่มสมรรถะภาพด้านการตระหนักรู้ถึงตนเองในด้านของความเป็นส่วนตัว (private-self awareness) แต่กลับลดการหนักรู้ของสังคมลงไป โดยสรุปแล้วรูปแบบการสื่อสารแบบ CMC ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ปิดบังตนเองมากขึ้น จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาทางลบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการถูกลดทอนความเป็นตนเองลง ถึงกระนั้นก็ยังมีองค์กรและกฏหมายต่างๆที่เรียกร้องให้เกิดการควบคุมการใช้สื่อ Social Media ให้ถูกวิธี และจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่สำหรับประเทศไทยเอง การสื่อสารผ่าน Social Media ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่อยู่ ผู้ใช้สื่อมีความรู้เท่าทันด้านบวกและลบของสื่อน้อยมาก และกฏหมายไทยก็ยังไม่ได้มีเนื้อหาที่เข้มข้นและลงลึกถึงขนาดที่จะเอาผิดกับกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือการที่นักสื่อสารมวลชนอย่างเรา ที่ตระหนักรู้เท่าทันถึงพลังอำนาจของ Social Media ช่วยกันผลักดันให้เกิดกระแสสังคม ให้มีการออกกฏหมายด้านจริยธรรมการใช้อินเตอร์เน็ตที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงพอที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างเฉียบขาด และกระตุ้มการปลุกจิตสำนึกและการหยั่งรู้ถึงตัวตนและการกระทำของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ให้ตระหนักถึงผลของสิ่งที่ตนเองทำให้ได้

 

แหล่งอ้างอิง

http://jcmc.indiana.edu/vol4/issue4/herring.html#ABSTRACT

http://www.cbsnews.com/stories/2010/03/29/earlyshow/main6343077.shtml

http://www.huffingtonpost.com/2010/03/24/alexis-pilkington-faceboo_n_512482.html

http://www.ryanpatrickhalligan.org/

หนังสือเรียนวิชาจิตวิทยาสังคมขั้นสูง โดย อ.จรุงกุล บูรพวงศ์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Leave a comment »

Attention please,Attention : สื่อใหม่กำลังมา เตรียมรับมือด้วย #สุกัญญา สุขเลิศ5245135128

ใครไม่ใช้โซเชียลมีเดียบ้าง ยกมือขึ้น!!!
ถ้าคุณยกมือ…แล้วคุณอ่านบทความนี้จากอะไรล่ะ???

ในปัจจุบันใครๆก็หันมาใช้สื่อใหม่(new media)ในโลกอินเตอร์เน็ทกันทั้งนั้น เพราะโลกอินเตอร์เน็ทให้ความเร็ว สะดวกสบาย ทันสมัย หลากหลายและน่าตื่นตาตื่นใจ มีพื้นที่ให้แสดงออกมาก เปิดกว้างและเสรี

แต่บางที มันก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น

สื่อใหม่ดี ดีมาก จนคนเราอาจจะลืมไปว่าผลกระทบของสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ดีไปกว่าสื่อเก่าเลย ซ้ำร้ายยังมีผลที่แย่ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เพราะความก้าวหน้าจนความเข้าใจตามไม่ทัน สื่อใหม่ก็เลยก่อปัญหาวุ่นวายให้ต้องตามแก้ไขและสะสางกันไป(ซึ่งส่วนใหญ่หน้าที่แก้ไขก็ตกอยู่ที่รัฐบาล หรือกระทวง ICT ที่ต้องตามปิดเว็บตามบล๊อกเว็บกันไป) แต่สุดท้ายแล้วผลกระทบแย่ๆนั้นก็กลับมาตกที่ตัวคุณ ที่เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ทเอง โดยที่คุณไม่อาจจะรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

สื่อออนไลน์ เป็นสื่อแห่งความหลากหลาย ทั้งด้านเนื้อหาและแหล่งข้อมูล ข้อมูลต่างๆที่เราอ่าน ดู ฟังกันทุกๆวันนี้มาจากทุกมุมโลก ทั้งนักวิชาการตัวจริง ภาพเหตุการณ์จริง สถานการณ์เกิดขึ้นจริง เสียงจริง เรื่องจริง แต่กระนั้นก็อาจจะมาจากนักวิชาการตัวปลอม เรื่องแต่งขึ้นเอง ภาพตัดต่อ เหตุการณ์สมมติและไฟล์เสียงลอกเลียนแบบก็เป็นได้ ถ้าเราไม่ใช้สติ วิจารณญาณให้ดีในการใช้สื่อ อาจจะมีผลกระทบร้ายแรงตามมาภายหลังก็ได้

ผลกระทบที่เกิดจากการใช้สื่อใหม่ หรืออินเตอร์เน็ท ที่เราเรียกกันว่าโลกออนไลน์นั้น มีอยู่ทั้ง ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม สื่อที่ส่งผลกระทบให้ผู้ใช้ได้มากที่สุดนั้นส่วนใหญ่จะเป็น สื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social network นั่นเอง เพราะสื่อแขนงนี้คือการติดต่อเชื่อมโยงระบุคคลต่อบุคคล มีการปฏิสัมพันธ์กันต่างๆ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แชร์ข้อมูลข่าวสาร ทำความรู้จักกันผ่านสื่ออินเตอร์เน็ทที่เป็นเครือข่ายออนไลน์ ไร้พรมแดน ไร้ข้อจำกัดทางสถานที่และเวลา ทำให้คนติดต่อกันง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น เป็นเพื่อนกันได้แค่เพียงกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว เว็บที่ให้บริการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้น

“Facebook” เจ้าแห่ง Social Network มีประชากรบนโลกใช้บริการทั้งหมดมากกว่า 500ล้านคน เทียบได้เท่ากับ ประชากรประเทศไทยx10 เล่นเฟซบุ๊ค ทุกคน!

Image

อัตราการเติบโตของ Facebook และ Twitter

ในขณะที่ Twitter เองก็เติบโตไปในทิศทางเดียวกับ Facebook แม้ตัวเลขจะน้อยกว่าพอสมควรเว็บไซต์อัพเดทข่าวสารวินาทีต่อวินาที ที่มีผู้ใช้มากกว่า 150 ล้านคน

Youtube มิติใหมใน่การแชร์ข้อมูล เปรียบได้กับเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เอาไว้แสดงความสามารถและโชว์ออฟแหวกแนวต่างๆ ทุกๆนาทีจะมีการอัพโหลดวีดีโอ และทุกๆวินาทีจะมีคนดูวีดีโอในยูปทูปเสมอ

และไหนจะ Blog ต่างๆที่เอาไว้เขียนแสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อัตราการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์นั้น มีปริมาณที่เยอะและรวดเร็วมาก และผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่เกิดจากการเสพสื่อใหม่ คือ สื่อใหม่กลายเป็นเครื่องมือให้โทษ

จริงอยู่ที่สื่อใหม่เกิดขึ้นเพราะสนับสนุนความสะดวกสบายในการหยิบข้อมูลต่างๆมาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ด้วยความเปิดกว้างและมีอิสระทางการรับส่ง สื่อสารข้อมูล(มากเกินไป) จึงทำให้สื่อออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือหาความรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างผิดๆ

บางกรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ทใช้สื่อใหม่ในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนใหญ่การละเมิดสิทธินี้ในสังคมตะวันตกดูเผินๆอาจจะไม่ขัดต่อกฏหมายที่เป็นโลกเสรีบนพื้นฐานของประเทศประชาธิปไตย แต่ถ้าเราลองมองกลับกัน ในด้านของคุณธรรม จริยธรรมและกาลเทศะ การละเมิดสิทธิส่วนตัวเหล่านี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้น อย่างเช่นเว็บไซต์กอซซิป(gossip) ดารานักร้องต่างๆ ซึ่งจะมีการเขียนบทความวิพากย์วิจารณ์กิจกรรมต่างๆของเหล่าดารา มีภาพจาdปารัซซี่ที่ตามแอบถ่ายดาราในสถานที่ต่างๆ มาจากกล้องถ่ายรูปบ้าง กล้องวีดีโอบ้าง กล้องมือถือบ้าง บางเหตุการณ์เป็นสิ่งเรื่องส่วนตัวไม่ควรนำมาเผยแพร่ Image

บางคนก็ใช้ พื้นที่สาธารณะนี้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คน จนก่อให้เกิดเป็น“ภัยทางอินเทอร์เน็ต” ซึ่ง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

1. ภัยที่เกิดกับบุคคล
2. ภัยที่เกิดกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเรื่อง ภัยที่เกิดกับบุคคล

ภัยที่เกิดกับบุคคลมักเกิดจากการหลอกลวง การกลั่นแกล้ง โดยผลที่ได้รับอาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายเกิดความอาย เสียเงิน จนถึงขั้นเสียชีวิตและตัวอย่างภัยที่เกิดกับบุคคลคือ การกลั่นแกล้งโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ท หรือ Cyberbullying คือกรณีที่นาย ก. มีความเกลียดชังนาย ข. จึงไปเขียนลงบนอินเตอร์เน็ท ผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวหรือเว็บบอร์ดกลางส่วนรวมในเว็บต่างๆ โดยกล่าวร้ายหรือโพสท์รูปภาพเกี่ยวกับนาย ข. จึงทำให้นาย ข. เกิดความอับอาย

จากการศึกษาในปี 2550 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐพบว่า หนึ่งในสามของวัยรุ่นสหรัฐที่ใช้อินเทอร์เน็ต ตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้ง ปัญหาดังกล่าวนี้ก็กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลกเช่นกัน และเมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย เพิ่งจะสั่งพักการเรียนเด็กนักเรียนหลายคน ที่โพสต์ข้อความแสดงความเกลียดชังคุณครูลงในเว็บไซต์เฟซบุ้ค และมีเด็กผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งฆ่าตัวตาย หลังจากได้รับข้อความดูถูกเหยียดหยามทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า “วัยรุ่นไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 37.2 เคยถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งผ่านสื่อออนไลน์ Image

อีกภัยคุกคามหนึ่งที่มาพร้อมกับสื่ออินเตอร์เน็ทคือ การหลอกลวงผ่านทางโฆษณาขายสินค้าด้วยวิธีการประมูล และมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประมูลและผู้เสนอขาย ซึ่งพบว่าเป็นการหลอกลวงผู้ซื้อ เช่น ผู้ขายไม่ส่งมอบสินค้าเพราะไม่มีสินค้าอยู่จริง การปั่นราคาสินค้าสูงกว่าปกติ คุณภาพสินค้าไม่ดีเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้ต่างๆ

อีกทั้งการชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต มีทั้งฝ่ายผู้ซื้อหลอกลวงผู้ขาย และผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อ เช่น ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าเมื่อมีการตัดบัตรเครดิต หรือการหลอกขายสินค้าแล้วขอเบอร์บัตรเครดิต และรหัสแล้วนำไปทำบัตรปลอมเพื่อซื้อสินค้าอีกต่ออีกทีซึ่งจะทำเป็นกระบวนการ และมักมีการร้องเรียนและแจ้งเตือนมากในหน้าเว็บบอร์ดต่างๆ
ภัยคุกคามที่ร้ายแรงมากที่สุดคือ การล่อลวงไปกระทำมิดีมิร้าย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ทที่เป็นผู้หญิง เช่นล่วงละเมิดทางเพศ ดังที่ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ส่วนมากจะมาในรูปแบบของการใช้งานโปรแกรม Chatroomต่างๆ อย่าง MSN Windowslive หรือมีการนัดแนะผ่านการแอดเฟรนด์(Add friends) Facebook ต่างๆ บ้างก็ไม่ใช่การหลอกลวงแต่เป็นการขายบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ทซึ่งเป็นสิ่งผิดกฏหมาย มักเกิดขึ้นผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวบ้าง หรือส่วนรวมอย่างโปรแกรม chat เช่น โปรแกรมแคมฟรอค โด่งดังมากในหมู่นักแชทออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมก้าวร้าว และกระตุ้นให้ทำในสิ่งที่พวกเขาไม่กล้าลองทำในชีวิตจริง ทำให้คนกล้าเขียนสิ่งที่จะไม่มีวันเขียนหากมีการเปิดเผยตัว

แต่สังคมออนไลน์ไม่ได้มีแค่การติดต่อสื่อสารเพียงอย่างเดียว

“เกมส์ออนไลน์” เปรียบได้กับโลกอีกใบหนึ่งที่โลดแล่นไปด้วยจินตนาการและความเสมือนจริง จากการศึกษาระหว่างปี 2550-2551โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 9-15 ปี จำนวน 2,452 คน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ราชบุรี สุรินทร์ และสุราษฎร์ธานี พบว่าร้อยละ 13.3 กลุ่มที่กำลังติดเกมมีอายุเฉลี่ย 11 ปี และมีภาวะติดเกมมาก โดยที่นิยมเล่นมากที่สุด คือ เกมบู๊ล้างผลาญ เกมเกี่ยวกับเพศ นุ่งน้อยห่มน้อย โดยเฉพาะเกม SF หรือ Special force ยังเป็นที่นิยม นอกจากนี้ยังคาดว่าภายในประมาณ 2 ปีข้างหน้า อายุเฉลี่ยเด็กติดเกมจะลดลงเหลือแค่ 5 ขวบครึ่ง ถึง 9 ขวบ หรือเริ่มติดเกมตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 Image

และการเล่นเกมส์เสมือนจริงเหล่านี้ยังก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่เป็นผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตของเด็กและผู้ใหญ่ที่ติดเกมส์อีกด้วย อย่างที่เคยเป็นข่าวดังเมื่อปี 2551 เด็กม.6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งติดเกมออนไลน์ ชื่อเกม “Grand Theft Auto” หรือ GTA ซึ่งเกมดังกล่าวเป็นลักษณะของการไล่ฆ่าฟันกันและการข่มขืน ประกอบกับอยากหาเงินใช้เองโดยไม่อยากขอเงินพ่อแม่ ตนจึงจำแบบอย่างในเกมลอกเลียนเอามาลองปฏิบัติจริง เพราะเห็นจากเกมว่าการฆ่าคนตายไม่ใช่เรื่องยากอะไร เป็นเหตุการณ์ที่เป็นอุทธาหรณ์ที่พ่อแม่ และในต่างประเทศ เหตุสะเทือนขวัญที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในเจฟเฟอร์สันเคาน์ตี้ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 มีสองนักเรียนวัยรุ่น ควงปืนหลายกระบอกบุกเข้าไปในโรงเรียน ก่อนกราดยิงเข้าใส่นักเรียนและอาจารย์อย่างไม่เลือก ส่งผลให้เพื่อนนักเรียนเสียชีวิต 12 คน อาจารย์เสียชีวิต 1 คน และมีผู้บาดเจ็บ 24 คน ก่อนที่ทั้งคู่จะยิงตัวตาย เมื่อมีการสอบสอนพบว่าทั้งคู่ชอบเล่นเกมส์ DOOM มาก

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมทรามอย่างหนักของสภาพสังคมและครอบครัวชนชั้นกลางชาวอเมริกัน แต่ที่สำคัญคือ เหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนต่อมาอีกหลายครั้งในสหรัฐจนถึงปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ก่อเหตุล้วนได้รับอิทธิพลของลอกเลียนแบบเหตุโศก นาฏกรรมในครั้งนี้อีกทีหนึ่ง

สื่อออนไลน์เหล่านี้กำลังครอบคลุมประเทศรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านความบันเทิง ด้านการติดต่อสื่อสาร การให้ข้อมูลข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ทั้งสิ้น ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าประเทศแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ก็มีการตื่นตัวอย่างมากในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน

สื่อใหม่ในสังคมไทยเป็นเครื่องมือในหลายๆด้าน อย่างในด้านของการเมือง รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกนโยบายพรรคเพื่อไทย แจกแท็ปเล็ตเด็กป.1 เพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้ เรื่องนี้มีความคิดเห็นวิพากย์วิจารณ์ออกมาหลากหลายเสียง บ้างว่าไม่เหมาะสมเพราะดุเป็นการสนับสนุนเด็กให้ติดเกมส์มากขึ้น บ้างก็เห็นด้วยกับการปลูกฝังส่งเสริมให้เด็กใช้เทคโนโลยีตั่งแต่เยาว์วัยImage

ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ หรือไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาคม ชุมนุมเสื้อสีต่างๆโดยใช้สื่ออนไลน์ในการรวบรวมกำลังพลจนเกินการควบคุม เกิดการชุมนุมกันและการประทะกันระหว่างฝ่ายพลเรือนเสื้อแดงและทหารจนเป็นที่วุ่นวาย เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย ล้มล้างระบบเผด็จการและมีการกล่าวดูหมิ่นถึงสถาบันต่างๆ (อาจเป็นเพราะความวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ประเทศจีนจึงสั่งปิดการใช้ Facebook Twitter Google และเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เพราะกลัวว่าประชาชนจะเสพสื่อจนเกิดความคิดล้มล้างระบอบการปกครองของรัฐบาล)

ประเทศไทยจึงมีการออกประมวลกฏหมายอาญาหมิ่นประมาทไว้เป็นมาตราต่างๆ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326),หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328),หมิ่นซึ่งหน้า (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393)และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) และมีการออกมาตรา และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14, 15 และ 16

ถึงกฏหมายเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ที่เข้มงวดแต่ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ที่เห็นกันอยู่ในในสังคมไทยนั้นก็ยังคงมีปัญหาอยู่ให้เห็น อย่างเช่นกรณีของ น้องก้านธูปที่โพสท์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และโดนชาวเน็ทต่อว่าวิจารณ์อย่างหนัก และในกรณีของ “อากง”ที่ส่ง sms หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมสมัยนี้ในเรื่องการด่าทอกันมันเฟื่องฟูมากขึ้น และเรารู้สึกว่าในโลกไซเบอร์ เราปิดบังตัวตนได้ทำให้การด่าทอกันด้วยถ้อยคำรุนแรง ไม่เกรงใจกัน มีได้มากขึ้นและง่ายขึ้น จากการที่เราเจอหน้ากันแล้วเราไม่ชอบคนนี้ เราอาจจะต้องเก็บงำเอาไว้ เพราะเราต้องเจอหน้ากันอีก แต่พอเข้าไปในโลกไซเบอร์ ก็ใส่ไปเต็มที่ เหมือนกับอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมาสอดรับกับเรื่องนี้พอดี จึงทำให้เกิดการฟ้องร้องกรณีหมิ่นประมาทกันมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย

ImageImage

ถ้าถามว่า ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังพอมีหนทางและวิธีแก้ไหม?
ก็พอมี

แต่คงจะต้องใช้เวลาและความสามารถของรัฐบาลมากพอสมควร เพราะเรื่องนี้มองดูแล้วไม่ใช้ปัญหาระดับชาติแต่มันคือปัญหาระดับโลก การแก้ไขควรจะเริ่มต้นที่ต้นเหตุ คือ การศึกษา หากให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ทที่ถูกต้องแล้ว การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการ ตามปิดเว็บไซต์คงจะมีน้อยลงมาก เมื่อผู้ใช้มีความเข้าใจอันดีแล้ว เนื้อหาที่เป็นอันตรายและไม่เป็นประโยชน์ก็จะลดลง และควรมีการรณรงค์ส่งเสริมการใช้อินเตอร์เน็ทอย่างถูกวิธีมากขึ้น โดยการใช้สื่ออินเตอร์เน็ทและสื่อต่างๆอย่างเช่น ภาพยนตร์ เพลงและข่าวต่างๆมาเตือนเป็นอุทธาหรณ์และเป็นกรณีศึกษา เพื่อช่วยสนับสนุนการลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้สื่อที่จะเกิดขึ้นซึ่งอาจจะช่วยได้ ไม่มากก็น้อย

………….แต่ถึงกระนั้นโลกอินเตอร์เน็ท ก็ยังเป็นโลกอินเตอร์เน็ทวันยันค่ำ

 

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/8496 : ผลวิจัยชี้เด็กติดเกมอายุเฉลี่ย 11 ปี
http://thumbsup.in.th/2011/02/china-block-social-network/ : ย้อนรอยการบล็อกสังคมออนไลน์ในแดนมังกร
http://ilaw.or.th/node/259 : มาตรา 14, 15 และ 16 ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550
http://www.clipmass.com/story/12977 : 10 + 1 สุดยอดการสังหารหมู่ในโรงเรียน

 

Leave a comment »

New Media…New Crime! #นุชจิรา วงศ์จิตราภรณ์ 524 50620 28

ทราบหรือไม่ว่า…

อาชญากรรม “ออนไลน์” ทั่วโลก เคยมีมูลค่ารวมสูงถึง 388 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ!!!

นี่เป็นสถิติที่น่าตกใจมาก เพราะตัวเลขภัยสังคมนี้มีมูลค่าสูงกว่าการค้าเฮโรอีน โคเคน และกัญชารวมกันในตลาดมืดเสียอีก (มูลค่าคิดเป็น 288 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ตัวเลขมูลค่าความเสียหายนี้เป็นผลสำรวจปี 2553 ของนอร์ตัน (Norton) ซอฟแวร์ป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ของค่ายไซแมนเทค (Symantec) สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มักเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งทุกๆวินาทีจะมีผู้ใหญ่ 14 คนตกเป็นเหยื่อออนไลน์ ทำให้มีเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มากกว่า 1 ล้านคนทุกวัน
นอกจากนี้ผลสำรวจเกี่ยวกับการป้องกันภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ต ฉบับที่ 16 ของนอร์ตันได้รายงานด้วยว่า จำนวนของอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 42 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 นับเป็นสัญญาณเตือนว่าอาชญากรออนไลน์กำลังพุ่งความสนใจและเป้าหมายมายังอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย และมีรายงานจำนวนของระบบปฏิบัติการในอุปกรณ์สื่อสารไร้สายใหม่ๆ ที่ได้รับภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้นจาก 115 ชนิดในปี 2552 เป็น 163 ชนิดในปี 2553 ทั้งนี้ภัยคุกคามตัวอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย การเพิ่มขึ้นของเครือข่ายทางสังคม และการขาดการป้องกันภัยที่ดี สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์

นายเอฟเฟนดี อิบราฮิม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย เคยกล่าวไว้ว่า ‘อาชญากรรมออนไลน์สามารถแพร่กระจายหรือเกิดขึ้นได้ง่ายเกินกว่าที่ผู้คนจะตระหนักถึง จากการสำรวจผู้ใหญ่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในรอบปี2553 ที่ผ่านมา พบว่าการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์มีจำนวนมากกว่าอาชญากรรมปกติถึง 3 เท่า ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่ายังขาดความเชื่อมโยงของการมองประเด็นของภัยคุกคามออนไลน์ที่เกิดขึ้นง่ายกว่าและมากกว่าภัยปกติ

      สำหรับ Virtual Crime หรือ อาชญากรรมโลก-เสมือน ปรากฏการณ์ด้านมืดสังคมยุคใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมออนไลน์นี่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง จากกรณีที่โด่งดังไปทั่วโลกในประเทศญี่ปุ่น หลังจากสตรีสมรสแล้วชาวซัปโปโร วัย 43 ปี ก่อเหตุฆาตกรรม “สามีเสมือน” วัย 33 ปี ที่แต่งงานกันในเกมออนไลน์ยอดนิยม “Maple Story” เพราะโกรธแค้นที่เขากดปุ่ม “หย่า” ขาดกับตัวเองโดยไม่บอกกล่าว ฝ่ายหญิงจึงลงมือนำรหัสเข้าเล่นเกมของสามีเสมือนไปใช้ล็อกอิน แล้วกดลบตัวละครในเกม หรือ “อวาตาร์” ที่ฝ่ายชายต้องเสียเงินจ่ายค่าชั่วโมงเล่นเกมเพื่อสะสมความสามารถพิเศษต่างๆ มานานเป็นปี จนหายไปในพริบตา เปรียบได้กับการฆาตกรรมอวาตาร์ดังกล่าว
ล่าสุด ตำรวจญี่ปุ่นจับกุมสตรีดังกล่าวในข้อหาบุกรุกข้อมูลส่วนบุคคลในคอมพิวเตอร์บุคคลอื่น ต้องโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปรับอีก 170,000 บาท
คดีสตรีซัปโปโรเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “โลกเสมือน” ในเกมออนไลน์ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้เล่นและอาจนำไปสู่อาชญากรรมในโลกจริงได้
นอกจากการขโมยรหัสลับเพื่อเข้าไปลบ หรือ “ฆ่า” อวาตาร์คนอื่นแล้ว พฤติกรรมเลวร้ายแทบทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในโลกจริง ยังไปเกิดขึ้นในโลกเสมือนเกมออนไลน์เช่นกัน อาทิ การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน มั่วเซ็กซ์ พฤติกรรมอนาจารเด็ก ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงการปล้น “ไอเท็ม” หรือของวิเศษ-พลังวิเศษจากตัวอวาตาร์ สู่การโจรกรรมทางการเงินและข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์


ปรากฎการณ์ด้านมืดของสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างอาชญากรรมออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอย่างที่เรามักเห็นตามข่าวเท่านั้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเมืองไทยบ้านเรา ก็กำลังตามเทรนด์มืดนี้เช่นเดียวกัน จากกรณีนักศึกษาวัย 22 ปี แฮกทวิตเตอร์นายกรัฐมนตรีที่ใช้ชื่อว่า @PouYingLuck เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยได้เข้าไปโพสต์ข้อความในลักษณะต่อว่าและวิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล รวมถึงนโยบายต่างๆในทางเสียหาย ซึ่งน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่าวิธีการของผู้กระทำความผิดคือการได้มาซึ่งรหัสผ่านของอีเมล์ แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย จึงไม่ใช่การดำเนินการแบบเผอิญไปเจอ แต่เป็นความตั้งใจที่จะได้รหัสผ่านแล้วดำเนินการทั้งหมด

ทั้งนี้ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งการลักลอบใช้ทวิตเตอร์โดยมิชอบนี้ มีความผิดตามมาตรา 5 7 9 และ 14 ดังนี้
มาตรา 5 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 9 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือ
บางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และมาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วรรค1 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

จากกรณีข้างต้น หากพิจารณาในมุมมองทางด้านสื่อ ถือว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางข้อมูลข่าวสารตามระบอบประชาธิปไตย แต่การกระทำดังกล่าวถือว่าผิดที่วิธีการ นั่นหมายถึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วย หากมีการโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันลงในทวิตเตอร์ของตนเอง ก็คงไม่มีความผิดและถูกดำเนินการตามกฎหมายเช่นนี้ เพราะจากการสำรวจพบว่าข้อความที่แฮกเกอร์ได้เข้าไปโพสต์นั้นไม่ได้เป็นข้อความหยาบคายหรือหมิ่นประมาทแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลเท่านั้น จึงทำให้เกิดข้อกังขาในการพิจารณาคดีด้วยมาตรา 14 วรรค1 ที่กล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จนั้น การนิยามคำดังกล่าวสามารถเอาผิดกับแฮกเกอร์นักศึกษาคนนี้ได้หรือไม่
นอกจากนี้ การรายงานข่าวอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้น ทั้งจากสื่อมวลชนซึ่งเป็นสื่อกระแสหลัก รวมถึงสื่อทางเลือกและสื่อใหม่ต่างๆนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการรายงานข่าวในลักษณะที่ให้รายละเอียดและเน้นย้ำถึงวิธีการทางอาชญากรรม มากกว่าจะชี้ให้เห็นถึงความผิดและผลกระทบทางสังคม การทำหน้าที่ของสื่อในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการชี้โพรงให้กระรอก กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ทำให้อาชญากรรมออนไลน์ทวีความรุนแรงและแพร่ไปอย่างรวดเร็วกว่าอาชญากรรมในโลกจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับกรณีตัวอย่างที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในระดับบุคคลหรือภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีสื่อใหม่สามารถติดต่อเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้พรมแดน ดังนั้นเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติก็เป็นปัญหาสังคมที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยที่ผู้บริโภคสื่ออย่างเราๆไม่ทันได้ระวังตัว นั่นหมายถึงเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า แต่กลับฉุดให้วิถีชีวิตของมนุษย์ตกต่ำและกำลังกลับเข้าสู่ยุคบ้านป่าเมืองเถื่อนอีกครั้ง ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลหรือสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่กำลังลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นผลกระทบในระดับมนุษยชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว
และเมื่อมีอาชญากรข้ามชาติที่อาศัยสื่อใหม่เป็นเครื่องมือเพิ่มขึ้น ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าจะต้องส่งผลต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ตำรวจไม่มีความหมาย การเมืองและการปกครองในประเทศล้มเหลว ประชาธิปไตยถูกบั่นทอนและไร้ประสิทธิภาพ พลเมืองไม่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน อิทธิพลเถื่อนเข้าแทรกแซงและมีอำนาจเหนืออำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ
ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมออนไลน์นั้น ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ ทั้งความมั่นคงในการบริหารงานราชการ ทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ และเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบสารสนเทศ รวมถึงความถดถอยทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากประชาชนเกิดความวิตกในการตกเป็นผู้ต้องหาจากการให้ข้อมูลของชื่อและรหัสผ่านให้แก่ผู้หลอกลวง ทำให้ข้อมูลถูกนำไปใช้ให้เกิดความเสียหายหรือนำไปก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความปลอดภัยของข้อมูลประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์หรือนักเจาะระบบต่างๆ ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามที่มาพร้อมการแทรกแซงกิจการภายในประเทศได้
พิษภัยจากเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบภายนอกในเชิงลบ (Negative Externality) นั่นหมายถึงมีผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมเช่นนี้ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาทบทวนกระบวนการใช้งานและการเฝ้าระวังภัยคุกคามจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ว่าในปัจจุบันและเท่าที่ผ่านมานั้น พลเมืองผู้ใช้สื่อใหม่เป็นกิจวัตร มีความรู้เท่าทัน(ภัย)สื่อและมีองค์ความรู้ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันภัยร้ายเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด และเพียงพอหรือไม่ที่จะเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อหรือเป็นอาชญากรอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ จากการสำรวจผู้ใหญ่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในรอบปี2553 พบว่า 89% ของผู้ตอบคำถามเห็นว่าจำเป็นต้องมีการนำกรณีของการตกเป็นเหยื่อออนไลน์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคิดว่าการต่อสู้กับอาชญากรรมออนไลน์เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน รวมถึงต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและภัยนี้มากกว่านี้ และมีการลงทุนในการป้องกันภัยคุกคามออนไลน์อย่างชาญฉลาดและปลอดภัยด้วย

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนและมาจากหลากหลายทิศทาง การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ปลายเหตุ เช่น การไล่ปิดเว็บ หรือเข้ายึดข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้คงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องเกิดจากการสร้างองค์ความรู้เรื่องการใช้อย่างมีจริยธรรมและระวังภัยเทคโนโลยีสื่อใหม่ในทุกระดับ ทั้งครอบครัว สถานศึกษา องค์กรต่างๆ รวมถึงภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน อีกทั้งการบังคับใช้กฏหมายที่ต้องเป็นไปอย่างจริงจังและมีความชัดเจนในการพิจารณาคดีมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สื่อใหม่ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความรุนแรงต่อสังคม

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.newsplus.co.th/NewsDetail.php?id=30411 : รายงานผลสำรวจนอร์ตัน
http://board.palungjit.com/f11/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%A5-%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-155743.html : คดี Virtual Crime สตรีซับโปโร
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

Leave a comment »

สารเตือนภัย: อินเตอร์เนตวายรักวายร้าย #ธรรมะ ตั้งปนิธานดี 5245051028

สารเตือนภัย: อินเตอร์เนตวายรักวายร้าย

ในยุคปัจจุบัน Social media ได้เข้ามามีบทบาทเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ในการสื่อสารส่วนใหญ่ การสื่อสารทาง social media หรืออินเตอร์เนต ทั้งสะดวก รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อย และยังเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาล อินเตอร์เนตจึงเป็นสิ่งที่ครองใจผู้คนทั่วโลกได้ แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งเหรียญมีสองด้านฉันใด การใช้ social media โดยไม่ระมัดระวังก็ย่อมก่อให้เกิดผลทางลบฉันนั้น

การใช้ social media เป็นการแสดงออกทางตัวตนของแต่ละคนอย่างหนึ่ง คือ เป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นส่วนตน เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นหลายๆคน และความคิดเห็นนั้นเป็นไปในทางเดียวกัน จะเกิดเป็นกระแสขึ้น กระแสที่เกิดจากความร่วมกันสร้างของคนในสังคมนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในรูปแบบต่างๆกัน กล่าวถึงเฉพาะในประเทศไทย  จำนวนชั่วโมงที่คนไทยใช้บน Social Media ต่อวัน มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 16.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 13.4 ล้านคนโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ในรายงาน 20 อันดับของ Social Media ปี 2008 ที่จัดทำโดย www.comscore.com รวบรวมสถิติในโลกดิจิตอลพบว่า Facebook มีจำนวนผู้ใช้ 200 ล้านรายและมีจำนวนผู้ใช้ twitter มีการเติบโตขึ้น 95% หรือประมาณ 51.6 ล้านราย
สำหรับประเทศไทยผู้ที่เข้าใช้ twitter ยังมีจำนวนไม่มากนักเพียง 300,000 ราย ซึ่ง www.alexa.com ระบุว่า คนไทยให้ความนิยม twitter ติดอันดับที่ 27 ของโลก ดังนั้น จะเห็นว่าแนวโน้มของการบริโภคสื่ออินเตอร์เน็ตต่างก็กำลังเข้าสู่กระแสของสังคมและ ความนิยมมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ กลับไม่ค่อยมีใครสังเกตว่า Social Media ที่กำลังใช้อยู่นั้น ค่อยๆดึงความเป็นไทยให้ไหลออกจากคนรุ่นใหม่ทีละน้อย โดยอิทธิพลของต่างชาติผ่าน Broadband ภายในเวลาไม่กี่อึดใจ เนื่องด้วยความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร วัฒนธรรมจากต่างประเทศก็เข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำของเราอย่างง่ายดาย ทั้งการรับประทานอาหาร ภาษาที่ใช้และการแต่งกาย

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้า ใช้งานเนื่องจากเพื่อให้ตามเทรนด์ของสังคมในยุคปัจจุบัน  แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่มาก เช่น กระแสการทำ planking หรือแกล้งตาย ที่เป็นที่นิยมมากในช่วงหนึ่ง ก็ได้เริ่มฮิตเป็นกระแสมาก่อนจากต่างประเทศแล้วจึงเข้ามาสู่ไทย เป็นที่นิยมมากในโลกเฟสบุ๊ค หรือการใช้รูป avatar รูปปลาไหล เป็นรูปดิสเพล ซึ่งเป็นเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนหน้านี้เนื่องจากมีการกล่าวหาว่า ต้นกำเนิดกระแสปลาไหลผู้เป็นดาราดังจากญี่ปุ่นนั้นใช้รูปนี้เป็นดิสเพลเพื่อเป็นไว้อาลัยพ่อแม่ที่เสียไปตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น อันเป็นความเท็จที่ไม่ได้ใส่ใจค้นหารายละเอียดที่แท้จริง และบางทีนิสัย “ขี้ตาม”นี้ก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้ด้วย จากในกรณีเว็บไซด์เพดดิกรีในต่างประเทศได้สร้างเกมให้เข้าไปอัพโหลดรูปภาพตัวเองและจับคู่ให้กับสุนัข ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ให้นำสุนัขไปเลี้ยง แต่คนไทยไม่ได้ทำความเข้าใจก่อน จึงทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมา

นอกจากนี้ การพัฒนาในด้านความรู้เพื่อสร้างสื่อบริการในประเทศไทยยังค่อนข้างเสียเปรียบ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดบุคคลากรอันมีประสิทธิภาพอยู่มาก ประเทศอื่นๆมี Social network ท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น QQ ของประเทศจีน Cyworld ของประเทศเกาหลี Mixi ของประเทศญี่ปุ่น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอันดับหนึ่งในประเทศของตน ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการใช้สื่อจากต่างชาติ อย่างเฟสบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ ให้ประเทศอื่นชักนำตามใจชอบ หากเทียบกันในกรณีของเกาหลีใต้ ที่ต่อสู้กับเกาหลีเหนือ โดยใช้สื่อเพื่อนำความเป็นเกาหลีใต้เข้าครอบงำคนเกาหลีเหนือ แม้เกาหลีเหนือพยายามปิดประเทศทุกวิถีทางยังสั่นคลอนได้ แล้วประเทศไทยเล่า เทคโนโลยี 3G ที่กำลังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าครอบงำ 80% ของคนในชาติอย่างเสรี มิยิ่งกว่าโดนแผ่นดินไหวถล่มหรือ?

ในขณะที่สื่อยุคเก่า เช่น โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ มีข้อบังคับและกฎหมายในการนำเสนอข่าวให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และไม่ขัดต่อความเป็นไทย ในโลกแห่งสื่อ Online นั้น ผู้ใช้สามารถเลือกเสพข้อมูลได้ตามใจชอบ ทำให้เป็นการยากที่จะสามารถควบคุมผู้ใช้งานให้อยู่ในกรอบที่วางไว้ แม้จะมีการออกกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนต เช่น พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544, พรบ.อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ 2550, พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2553 มาแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ค่อยเป็นผลเท่าไรนัก ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยครั้ง เช่นการเอาข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นๆ มาเผยแพร่ แม้จะทำลิงก์เชื่อมโยงที่มาเอาไว้ แต่ถ้าไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของเว็บที่ได้นำข้อมูลมาโดยตรงก็อาจมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หรือทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น  ในสหรัฐอเมริกาประเด็นนี้ก็เป็นที่ถกเถียงเช่นกันว่า ถ้าจะเอาเว็บไซต์ของคนอื่นมาลิงค์เข้ากับเว็บไซต์ของเราจะต้องไปขออนุญาตหรือไม่ สำหรับประเทศไทยปัญหานี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่ในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ก่อนจะนำเว็บของคนอื่นมาลิงค์เข้ากับเว็บของเราควรขออนุญาตให้เรียบร้อยก่อน หรือใช้เป็นเพียงแหล่งข้อมูลเท่านั้น ไม่คัดลอกทั้งหมดมาเลย

จากการที่อินเตอร์เนตเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนนี่เอง การใช้งานจึงขาดความเป็นส่วนตัว มีการโจรกรรมข้อมูลเกิดขึ้น เนื่องจากองค์กรบางองค์กรก็ใช้ Social media เป็นตัวช่วยในการเชื่อมโยงกับลูกค้าเช่นกัน วิธีนี้ได้ผลดี แต่ก็น่าเป็นห่วงในประเด็นความไม่ปลอดภัย ความไม่เป็นส่วนตัว เช่นธนาคารบางแห่งมีการเปิดให้ทำธุรกรรมได้ผ่านทางอินเตอร์เนต อาจมีการโจรกรรมข้อมูลทางการเงินซึ่งควรเป็นความลับสุดยอด วิธีการป้องกันทั่วไป คือ

1. Set password ให้ยากและเปลี่ยนบ่อย ๆ

2. Set ค่า Privacy บน Web application อย่าง Facebook ให้เหมาะสม

3. ติดตั้ง Software Antivirus

4. สังเกต การเปลี่ยนแปลง เช่น URL หรือ สมรรถนะของเครื่องที่ใช้งาน
และสำหรับองค์กร ต้องมีการฝึกอบรม Security Awareness Training เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามทางอินเตอร์เนต

นอกจากนี้ประเด็นปัญหาทางกฎหมายอย่างอื่น ยกตัวอย่างเช่น การพนันออนไลน์

ตามกฎหมายแบ่งแยกการพนันออกเป็น 2 ประเภท โดยแยกออกเป็น บัญชี ก. และ บัญชี ข. กลุ่ม ที่อยู่ในบัญชี ก. กฎหมายห้ามเล่นโดยเด็ดขาด อาทิ พวกหวย ก.ข. ไฮโล ไพ่ต่างๆ ส่วนประเภทสองที่อยู่ในบัญชี ข. เล่นได้แต่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน  เว็บไซต์ ที่มีการพนันออนไลน์เปิดให้เป็นเกมมีอยู่มากมาย มักจะเป็นเกมไพ่ต่างๆ และสล๊อตแมชชีน ซึ่งถือเป็นการพนันตามบัญชี ก. ผู้ฝ่าฝืนก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี อย่างไรก็ตาม การเล่นพนันออนไลน์ติดตามจับกุมยากและไม่คุ้มกับทรัพยากรของภาครัฐ จึงยังไม่ค่อยเห็นการดำเนินคดีอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานก็ควรจะระมัดระวังในการใช้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

อีกประเด็นที่พบเห็นบ่อยมาก คืออีเมล์ขยะ ผู้ที่ใช้ อีเมล์ คงรู้สึกเบื่อหน่ายกับ อีเมล์โฆษณาขยะ ทั้งหลายที่ส่งมาได้ทุกวัน วันละหลายๆ ฉบับ ก่อให้เกิดความรำคาญใจ อีเมล์เหล่านี้อาจเกิดจากผู้ส่งอีเมล์เหล่านี้ ฝังโปรแกรม “คุกกี้” เอาไว้ตามเว็บไซต์ที่เข้าไปดู จากนั้นก็ส่งคุกกี้เข้ามาคอยสอดส่องเก็บข้อมูลการใช้คอมพิวเตอร์และอีเมล์ ของเรา เพื่อส่งอีเมล์ขยะมาหา
ในสหรัฐอเมริกา ปัญหาอีเมล์ขยะทำให้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไปร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เร่งออกมาตรการควบคุม และเคยเกิดคดีดังขึ้นคดีหนึ่ง หลังจากบริษัท “เอโอแอล” ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ของสหรัฐ ได้ฟ้องร้องบริษัทไซเบอร์โปรโมชั่น ฐานส่งอีเมล์โฆษณาขยะไปยังอีเมล์ลูกค้าของเอโอแอล และไอเอสพีก็ยังฟ้องผู้ส่งอีเมล์ขยะอีกในฐานะ “บุกรุก” คอมพิวเตอร์ลูกค้า
สำหรับในประเทศไทยอาจเข้าข่ายผิดมาตรา 10 ในกฎหมายคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กล่าวโดยสรุปแล้ว Social media เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์หลายประการ แต่ก็แฝงไปด้วยภัยคุกคามที่ตามมาอย่างมากมาย ผู้ใช้งานในโลกออนไลน์ต้องแยกแยะระบุให้ชัดเจนว่า ข้อความใดเป็น “ข่าวประชาสัมพันธ์” ข้อความใดเป็น “ความคิดเห็น”  “ความคิดเห็นส่วนบุคคล” หรืออื่นๆ  ความคิดเห็นดังกล่าวควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย  และพึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำและภาษา ที่อาจเป็นการ หมิ่นประมาทบุคคลอื่น และควรใช้ภาษาให้ถูกต้อง สุภาพ สร้างสรรค์ งดเว้นการโต้ตอบ ด้วยความรุนแรง ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งไม่บานปลายจนหาที่สิ้นสุดไม่ได้  แต่เมื่อเกิดเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งขึ้น ควรแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการขอโทษ แสดงความเสียใจทันที เมื่อรู้ว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือกระทบต่อบุคคลอื่น

ส่วนที่สำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาจากการใช้อินเตอร์ทั้งด้านสังคมวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และด้านปัญหาทางกฎหมาย คือ ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานมากกว่านี้ เนื่องจากชาวไทยยังไม่ได้รับการปลูกฝังที่ถูกต้อง ในเรื่องของการใช้อินเตอร์เนตอย่างไรให้พอหมาะพอควร สามารถดำรงตนอยู่ในความเป็นไทย ไม่ไหลเห่อไปตามกระแสนอก ผู้ใช้ควรได้รับการอบรมให้ตระหนักถึงภัยที่มากับอินเตอร์เนต มีความรับผิดชอบ และมีวิจารณญาณในการใช้งาน  ผู้ใช้งานด้วยกันควรช่วยกันตรวจสอบดูแลความผิดปกติที่เกิดขึ้นในโลกอินเตอร์เนตด้วย  เนื่องจาก แม้จะมีกฎหมายมารองรับและมีเจ้าหน้าที่ แต่โลกอินเตอร์เนตนั้นกว้างใหญ่ไพศาล จึงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงด้วยคนเพียงหยิบมือเดียว หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน เราก็จะมีโลกอินเตอร์อันเป็นแหล่งแห่งขุมปัญญา ความก้าวหน้าทันสมัย และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

Leave a comment »

Freedom or Fleedom!

 

            เมื่อวานนี้มีโอกาสได้ไปนั่งเล่นที่ร้านกาแฟแต่ชื่อคล้ายร้านหนังสือย่านพร้อมพงษ์ แล้วก็ต้องร้องว่า “ว้าว” เพราะด้วยความน่ารักของการตกแต่งร้าน ประกอบกับร้านเขามีชั้นหนังสือใหญ่พร้อมหนังสือทั้งไทยเทศหลายประเภทให้หยิบอ่านกันได้สบายสบาย ถูกใจคอกาแฟที่ชอบอ่านหนังสืออย่างผู้เขียนเป็นอย่างมาก

                อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่านี้เป็นบทความโฆษณาร้านคาเฟ่กันเสียก่อนะจ๊ะ แต่กำลังจะบอกว่าทันทีที่กวาดสายตาไปบนชั้นหนังสือแล้วก็ต้องบอกว่า “อีกแระ” เพราะ เจ้าตาตัวดีดันสะดุดกับหนังสือชื่อ สตีฟ จอบส์ ที่วันนั้นทั้งวัน เห็นหนังสือเล่มนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง  ทั้งในร้านหนังสือ เว็บไซด์ และร้าน i…ทั้งหลายที่มีสัญลักษณ์ลูกแอปเปิ้ลสีขาว  พอได้นั่งจิบกาแฟ ทานขนมเค้กไปสักพัก เพื่อนก็หยิบไอโฟนขึ้นมาถ่ายรูป ขนมเค้กที่เพิ่งมาเสริฟ ส่วนเราเองก็อยากจะเข้าโหมดเงียบๆคนเดียวเลยควักไอฟอดขึ้นมาฟัง ตอนนั้นเองที่รู้สึกเหมือนว่ามีใครมาเปิดไฟสว่างจ้า ทำให้ตาเรามองทะลุเครื่องเล่นในมือไปสู่ภาพของผู้คนทั่วโลกอีกนับแสนนับล้านคนในวินาทีเดียวกัน กำลังใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาโดยมีเจ้าเครื่องตราแอปเปิ้ลนี้อยู่ข้างกาย และยากจะจิตรนาการว่าหากไม่มีมันอีกแล้ว ชีวิตเราจะเป็นไปยังไง เพราะบางอย่าง เปลี่ยน แล้ว มันก็ เปลี่ยน เลย ใช่ค่ะ มัน “เปลี่ยน”  โลกใบนี้ไปแล้ว เจ้าเครื่องมือเล็กๆนี้ได้ทำให้โลกทั้งใบ และผู้คนที่อาศัยกินตื่นหลับนอนในดาวเคราะห์กลมๆนี้  มีวิถีชีวิตแบบใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์จากบุคคลยิ่งใหญ่ระดับโลก นามว่า สตีฟ จอบส์

              การกำเนินเกิดขึ้นของเทคโนโลยีต่างๆ ในโลก เปลี่ยนวิถีของผู้คนนับล้าน รวมไปถึงระบบ แลสถานบันมากมาย ผลของมันช่างมหาศาล ยากเกินจะอธิบาย แต่บางทีด้วยความเป็นคนช่างสงสัย ก็อดจะขบไม่ได้ว่าพวกคุณๆท่านๆนักประดิษฐ์เหล่านั้น เขาคิดได้ยังไงกันหน่อ ถึงแม้จะมีคนบอกว่า ก็เขาเก่ง ก็เขามีความรู้ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่เข้าแก๊บแต่ไม่ถูกใจเท่าไหร่ จนกระทั่งมาเจอวาทะของคุณหนุ่มเมืองจันทร์ ในหนังสือชื่อชวนคิดอย่าง คำถามสำคัญกว่าคำตอบ พี่ตุ้มเขาว่าไว้ว่า “ปัญหาคือบิดาของนักประดิษฐ์” หน่ะ ใช่เลยคำตอบนี้ โดนค่ะโดน เรียกว่าเป็นรักแรกพบก็ว่าได้ ปัญหา นี่เอง เพราะเรามีปัญหาจึงต้องแก้ปัญหา และปัญหาบางอย่าง เราก็ต้องใช้ผู้ช่วย จึงเกิดเป็นเทคโนโลยีต่างๆขึ้น และนำมาสู่การลืมตาดูโลกของสื่อใหม่หลายๆชนิด

                แต่ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่อนาคตเราก็ควรที่จะหันกลับไปมองอดีตกันสักนิดหน่อย  การเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์สื่อแพร่หลายที่เก่าที่สุดก็เกิดจากปัญหา  เพราะคนนอกจากจะรู้ข่าวสารต่างๆได้ยากแล้ว ยังไม่มีโอกาสจะแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้งกับปัญหาและระบบที่ตัวเองเผชิญอยู่ จึงมีความต้องการรู้ข่าวสารกันให้ง่ายและมากขึ้น คนไม่มีอิสระ หนังสือพิมพ์เข้ามาเพื่อให้สิ่งนี้แก่ประชาชน และทำให้พวกเขาได้อิสระจริงๆซะด้วย พวกเขาได้อิสระภาพ(Freedom) จากการวิ่งหนี (Flee) สิ่งที่ทำร้ายพวกเขา ที่เห็นกันได้ชัดเจนก็มีหลายตัวอย่าง เริ่มวิ่งกันมาตั้งแต่ การปฎิวัติอังกฤษ มาจนถึง การปฎิวัติฝรั่งเศส และอเมริกา หนังสือพิมพ์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูล และปลุกกระแส ให้ผู้คนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตน โลกจึงรู้จักคำว่าประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แล้วสื่อเก่ามีปัญหายังไง สื่อใหม่จะทำหน้าที่เป็นฮีโร่ได้อย่างสื่อเก่าหรือไม่ เรามาดูวิดีโอนี้ก่อนจะมาถกกันต่อ

             

             

               คลิปวีดีโอนี้บอกอะไรเราได้บ้าง? มันบอกเราถึงความแตกต่าง รวมถึงข้อดีและข้อเสียได้ในเวลาเพียง 1 นาทีกะอีก 5 วินาที เร็ว สนุก แถมให้ความรู้ และเจ้าคลิปวิดีโอนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสื่อใหม่หรือมิใช่ การทำอิโฟกราฟฟิก แอนนิเมชั่น และการอัพโหลดวีดีโอลงอินเตอร์เน็ต ในเวบไซต์ที่ผู้บริโภคสามารถ share ให้กับเพื่อนได้ดูต่อ แล้วเพื่อนก็ให้เพื่อนของเพื่อนดูต่อ แล้วเพื่อนของเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศก็ดูต่อ ฯลฯ แค่เราหลวมตัวมาเสพมาดูคลิปวีดีโอ เพื่อหาความแตกต่างระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ เราก็โดนสื่อใหม่แทงข้างหลัง (แต่ทะลุถึงหัวใจรึเปล่าไม่รู้!) เราไปแล้วหนึ่งดอก

                 ใจความสำคัญของวิดิโอตอนหนึ่งก็คือ การที่สื่อใหม่ให้อำนาจทุกคนได้เป็นผู้สื่อ ตัวสาร ออกไป เป็นคนกำหนดประเด็น กำหนดทิศทางของสังคมไม่ทางใดทางหนึ่งด้วยตัวเองได้ ไม่เหมือนกับสื่อเก่า ที่ดูจะมี อิสระ น้อยกว่า ใช่ค่ะ “อิสระ” เราอาจพูดได้ว่าที่เราพยายามค้นหาไขว่คว้า และเรียกร้องให้เราสามารถทำโน่นทำนี้ ให้คนยอมรับในตัวเรา ก็เพราะเราต้องการอิสระในการที่จะทำอะไรได้ตามใจ อิสระที่จะพูด จะเขียน และสื่อสารสิ่งที่เราคิดออกไปให้โลกได้รับรู้ สื่อเก่าถึงแม้จะมีพื้นที่ให้เราได้แสดงอิสระนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ก็ถูกขับเคลื่อนโดยคนกลุ่มหนึ่งๆเท่านั้น แต่ที่คนกลุ่มนี้พิเศษก็เพราะเขาไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ เขาเรียกตัวเขาเองว่าเป็นคนตรวจสอบผู้มีอำนาจ อย่างที่เจ้าหนังสือพิมพ์ในวีดีโอเถียงว่าเขาเป็นคนจัดการคอรัปชั่นนะนั่นแหละบางทีมันก็อาจจะต่างแค่ 1 คำที่สำคัญ คือ บางคน กับ ทุกคน

                สื่อใหม่จึงมีอย่างน้อยหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สื่อเก่าไม่มี สื่อใหม่มีอะไรอีก? สื่อใหม่มีความสามารถในการรวมเอาสื่อเก่าทั้งหมดทั้งมวลเข้ามาไว้ด้วยกัน ดังที่เว็บของเนชั่นได้ให้คำจำกัดความสื่อใหม่ไว้ว่า

“สื่อใหม่ คือ การรวมตัวของสื่อมวลชนเดิมอันได้แก่ หนังสือพิมพ์

วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต เป็นสื่อกลางในการ

ทำงาน ซึ่งต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการผลิต ตัดต่อ นำเสนอ

สื่อใหม่ ยังรวมถึง การนำเสนองานในระบบ Interactive ต่างๆ

นอกเหนือจากการนำเสนองานโดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อแล้ว ยังมีการนำเสนอ

งานทั้งด้าน CD-ROM, Interactive Television, Broadband,  DVD

ตลอดจนการนำเสนองานในนิทรรศการต่างๆ  ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมกันทำงาน

ระหว่างสื่อ( Media) และ เทคโนโลยี (IT)”

 

การที่สื่อใหม่สามารถรวมเอาสื่อต่างๆมาอยู่ในตัวเองได้ก็เก่งพอดูอยู่แล้ว ก้าวขึ้นไปอีกขั้นสื่อใหม่ยังสามารถ COPY ตัวเอง และส่งต่อไปได้ทั่วโลกหากในมุมนั้นๆมีเทคโนโลยีเดียวกันรองรับอยู่ ซึ่งก็คือระบบอินเตอร์เน็ต หรือที่เขาเรียกเป็นภาษาวิชาการว่า การสื่อสารใยแมงมุม หรือ Web Communication

จากเดิมที่การสื่อสารด้วยสื่อเก่าเป็นไปในแบบแนวดิ่ง คือ

S    (source)

  M (message)

C   (Chanel)

 R  (Receiver)

การสื่อสารจากแหล่งข่าวผ่านช่องทางการนำเสนอไปถึงผู้บริโภคสื่อนั่นเป็นไปในแบบบนลงล่างต้องผ่านกระบวนการคัดกรองและผ่านหลายบุคคลจึงจะออกมาสู่สายตาประชาชน โครงสร้างการสื่อสารแบบนี้เองที่ทำให้เกิดความหน้าเชื่อถือ และดูจะเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งที่สื่อเก่าจะเอาไปต้านสื่อใหม่ได้

มาดูโครงสร้างสื่อใหม่กันบ้าง การสื่อสารของสื่อใหม่เป็นไปในแบบนั่นกินนอนกิน คือในแบบแนวนอนง่ายๆ

 

S -> M -> C -> R

 

การสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสารถสื่อสารกันได้โดยตรงและมีการสื่อสารแบบ Two-way communication คือทั้งสองฝ่ายโต้ตอบกันได้โดยตรง(สื่อเก่าก็มีแต่ไม่มากและชัดเจนเท่า) ในที่สุดก็พัฒนามาจนถึงการสื่อสารแบบ ใยแมงมุม(Web Communication) 

http://i27.photobucket.com/albums/c179/Harry74/web-communication_thumb.jpg

จากภาพเราก็จะเห็นได้ชัดๆเลยว่ามันไม่เหมือนใยแมงมุม เอ้ย! มันพอจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าผู้ส่งสารรัก A และ ผู้รับรัก B ได้ส่งต่อความรักสื่อ สาร ไปยังคนรักข้อมูลข่าวสาร อื่นๆอีกมากมาย ไร้กฎเกณฑ์และข้อบังคับของพื้นที่และเวลา

                แล้วสรุปว่า สื่อใหม่จะมีคุณสมบัติในการเป็นฮีโร่ได้อย่างสื่อเก่าไหมน้า เพราะอย่างน้อยมันก็มอบสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกให้เราแล้ว และการที่ทุกคนมีสิทธิเสรีในการแสดงออก มันจะช่วยกอบกู้ประชาธิปไตยจริงหรือ?! ในหนังสือชื่อดังอย่าง Rice Media, Poor Democracy ได้บอกไว้ว่า

 

“ยิ่งยักษ์ใหญ่ของบริษัทสื่อมีอำนาจและร่ำรวยมากเท่าไหร่ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็ยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น”

 

               ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ให้คำกล่าวนี้ไว้กับสื่อเก่า เพื่อเป็นข้อสังเกตุว่า สื่ออิเล็กทรอนิคอย่างโทรทัศน์ก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้มีอำนาจใช้เพื่อควบคุมความคิดความอ่านของเรา แต่สื่อใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์เข้ามาเปิดช่องทางและสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับการส่งเสริมประชาธิปไตย เช่นการใช้อีเมล์และอินเตอร์เน็ตของผู้รณรงค์กิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย์ชน อย่างที่เป็นข่าวโด่งดังล่าสุดในไทยกก็คงหนีไม่พ้น “คดีอากง” ที่ถึงแม้จะถูกวิจารณ์ไปต่างๆนาๆ แต่อย่างน้อยๆคนก็ได้รับรู้ ได้ตระหนักถึงปัญหาบางอย่างที่เราอาจมองข้ามไป และได้ใช้สมองที่พวกเรามีอยู่ในการขบคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเรา กรณีนี้เป็นเพียงกรณีหนึ่งที่กระตุ้นให้เราได้ใช้และรักษา สิทธิและเสรีภาพที่เรามีอยู่

                  การเกิดขึ้นของแฟนเพจเสื้อสีต่างๆใน FACE BOOK ที่ดูเหมือนจะสร้างความปวดหัว ตอกย้ำปัญหา และสร้างความร้าวฉานในสังคม ให้มากขึ้น อย่างที่หลายๆคนว่ากันไว้นั้น ไอ้จะจริงหรือไม่จริง แท้หรือเทียมแค่ไหนคงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริโภคสื่อ แต่อย่างน้อยๆมันก็ทำให้พวกเราหันมาสนใจ และเริ่มตระหนักถึงคุณค่าในตัวเราขึ้นมาอีกนิดไหม ว่าเสียงของเราหนึ่งเสียง ความคิดของเราหนึ่่งก้อน(สมอง) ก็ส่งผลกระทบกับสังคมและผู้คนในกลุ่มใหญ่กว่าเราได้ ทำให้เราเริ่มหันกลับมามองจุดที่ยืนอยู่ ว่าเท้าเราเจ็บไหม มีแผลถลอกรึเปล่า และยิ่งกว่านั้นเราอยากจะยืนอยู่ในที่นี่ต่อไปไหม หรือเราจะออกวิ่ง(Flee)ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อย่างน้อยถ้าจะคิดแบบเห็นแก่ตัวก็คือ “เรามาหาที่ยืนที่เรามีความสุขดีกว่า” แล้วมันก็สร้างปรากฎการณ์ทางสังคมไทย ที่ไม่ได้เห็นมานาน อย่างการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ใครจะบอกว่าดีหรือไม่ดี จะสนับสนุนฝ่ายไหนก็เอาเถอะ(อย่าถามผู้เขียนเลยว่าสีไหน เพราะคงได้แต่ทำหน้าอมยิ้มแล้วบอกว่า สีเดียวกัน พร้อมขยิบตาหนึ่งที) บางครั้งเราก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันคงกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราผู้รับสารได้รับรู้ข้อมูล ข้อดี ข้อเสีย ข้อด้อย ข้อเด่น ของสิ่งต่างๆรอบๆตัวเรามากจนเกินไปแล้ว บางทีมันก็เกินกว่าจะวางตัวเป็นกลาง หรือหันมาจับมือกันมือนึง อีกมือนึงไขว่หลังแล้วไม่ทำนิ้วอุ๊บอิบมันก็คงยาก เมื่อเวลามาถึง อะไรจะเกิดมันก็คงต้องเกิด แต่ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างหนึ่งในสังคมที่เราอยู่ เราคงไม่อยากเป็นเพียงตัวหมากให้ใครจับเดินหรือ นั่งเฉยๆปิดหูปิดตา เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มันมีผลกับทุกด้านของชีวิตเราก็ว่าได้  ชอบข้อความหนึ่งในหนังสือชื่อ Questioning Globalization ที่ว่า

“สำหรับโลกโลกาภิวัฒน์ผู้บริโภคเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสิน ส่วนประชาธิปไตยที่ปราศจากพลเมืองที่มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งก็ไม่มีความหมาย”

 

                สื่อใหม่ให้พื้นที่ตรงนี้กับเรา พื้นที่ที่ใครๆก็พากันเรียกว่า “พื้นที่สาธารณะ” ในพื้นที่นี้เรามีส่วนร่วมได้เต็มที่  ถึงแม้บางคนจะบอกว่า ระบบนี้ทำให้ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ข้อมูลล้นหลอกลวง แต่ก็ดีกว่าเราการถูกจับขังคุกที่มองไม่เห็น โดนหลอกไปวันๆในทุกย่างก้าวรึเปล่า อย่างน้อยๆเราก็มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเราเองมิใช่หรือ

                ฉะนั้นจะขอตอบคำถามตามอัธภาพทางปัญญาของผู้เขียนว่า สื่อใหม่มีศักยภาพเต็มเปี่ยมในการเป็น ฮีโร่ที่จะนำภาพสังคมและผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือคงไว้ซึ่งสิ่งที่ดีงาม เทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าสื่อเก่าด้วยซ้ำ เพียงแต่ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า “ใหม่” อะไรใหม่ๆเราก็ต้องค่อยๆเรียนรู้ และค่อยๆปรับตัวกันไป มันอาจจะเกิดปัญหาบ้าง สร้างความวุ่นวายบ้าง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ระบบมันก็อยู่เฉยๆของมันดีๆรึเปล่า จำเลยตัวจริงคือระบบ หรือผู้ใช้ระบบ?

                ถ้าย้อนกลับไปมองข้างหลังเราก็เห็นว่าพวกเรา วิ่งหาอิสระภาพมาตั้งแต่ยุคโบราณ และเราได้วิ่งหนีระบบเก่าๆมาไกลมากเเล้วเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบปัจจุบันที่เรามีอยู่ในสังคม แล้วถ้าจะมีใคร หรือคนกลุ่มไหนออกวิ่งไปในทิศทางใด หนทางข้างทางจะเป็นยังไงก็จนปัญญาจะตอบออกไป เอ๋ไปถามหมอดูท่าจะดี หรือคุณผู้อ่านว่ายังไงกันบ้างค่ะ

พราวพิสุทธิ์ แสงอุทัย 5245256428 ปี 3

Pround90@hotmail.com/August1745@twitter

แหล่งอ้างอิงทางอินเตอร์เน็ต

http://www.youtube.com/watch?v=LRlKol4Usxw&feature=related

http://tarbby.wordpress.com/2011/06/01/%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2traditional-media-%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD/

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=127845

แหล่งอ้างอิง หนังสือ

Questioning Globalization by Kavaljit Singh

Leave a comment »

สื่อใหม่ : สวัสดีเสรีภาพยิ่งใหญ่อันไม่คุ้นเคย # พิมพ์พิชา อุตสาหจิต 514 525 4028

“สื่อใหม่เกิดขึ้นเพราะเหตุใด?” หากเราหาคำตอบจากตัวสื่อใหม่เอง ซึ่งก็คือ “อินเทอร์เน็ต” ก็จะสามารถตอบตามตรงได้ว่า สื่อใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “การทหาร” เนื่องจากในช่วงปี 1969 นั้น กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในยามฉุกเฉิน ต่อมาอินเทอร์เน็ตก็ถูกจำกัดวงใช้อยู่ในกลุ่มของนักวิชาการ จนในที่สุดก็ค่อยๆแพร่หลายสู่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปอย่างที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งผลักดันให้เกิดสื่อใหม่ คือ “ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาได้อย่างถูกที่ถูกเวลาพอดี โดยเทคโนโลยีนี้เองที่มาขยายศักยภาพขององค์ประกอบหนึ่งของการสื่อสาร คือ ช่องทาง (C-Channel) ในวงจร S-M-C-R ซึ่งเป็นความแตกต่างอันเด่นชัดระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่

สื่อใหม่ = สิ่งที่สื่อเก่าทำไม่ได้

ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า ทำให้สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตพกพาอาวุธเหนือชั้นมาเต็มกระเป๋า และพร้อมที่จะเอาชนะสื่อเก่าในแทบทุกด้าน และทลายข้อจำกัดต่างๆของสื่อเก่าลงเสียสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของ “กาลเทศะ” (เวลา + สถานที่) กล่าวคือ อินเทอร์เน็ตทำให้คนสามารถติดต่อสื่อสารได้ครอบคลุมปริมณฑลกว้างมากกว่าสื่ออื่นๆ จนอาจเรียกได้ว่าไร้ซึ่งขอบเขต (borderless) เลยทีเดียว นอกจากนี้ เส้นทางการเดินทางของข้อมูลข่าวสารยังมีลักษณะเป็นเครือข่าย (network) ที่เชื่อมโยงผู้ใช้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ อาจารย์ หรือนักเรียนประถม ก็สามารถสื่อสารกันได้หมด โดยเป็นได้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารเหมือนๆกัน ไม่ต้องแย่งพื้นที่สื่อและไม่มีใครเด่นเกินใคร แตกต่างจากสื่อกระแสหลักซึ่งมีเส้นทางการเดินทางของสารแบบ “เป็นเส้นตรงทางเดียว” (linear) คือ ประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายรอรับสารจาก gate-keeper จากบนลงล่าง (top-down) และเป็นทางเดียว (one-way communication) ซึ่งเหนือ gate-keeper ขึ้นไปก็อาจจะเป็นรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจกลุ่มต่างๆตามแต่สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เป็นผู้กำหนดวาระของสารอีกทีหนึ่ง (agenda-setting) รวมทั้งสื่อใหม่ยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเวลาอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ใช้สื่อใหม่สามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้แบบทันทีทันใด (interactive) และไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าจะบริโภคข้อมูลข่าวสารไม่ทัน เนื่องจากคุณสมบัติของสื่อใหม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารเก่าๆกลับมาชมได้ใหม่ตลอดเวลา

พร้อมกันนั้น ยังต้องขอบคุณเทคโนโลยี “ดิจิตอล” ซึ่งเข้ารหัสข้อมูลต่างๆทุกประเภทให้อยู่ในรูปตัวเลข 0 และ 1เหมือนๆกันหมด ซึ่งมีข้อดีอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ ทำให้สามารถเก็บและส่งต่อ

Digitalization ทำให้เกิดการ convergence ของสื่อต่างประเภทได้โดยสะดวก

ข้อมูลได้เป็นปริมาณมหาศาล เช่น อินเทอร์เน็ตที่กลายมาเป็นคลังความรู้ หรือยกตัวอย่างอีกสื่อหนึ่งให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คือ วิทยุโทรทัศน์ซึ่งเดิมใช้ระบบอนาล็อก (analog) ทำให้คลื่นความถี่หนึ่งคลื่นสามารถส่งสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ได้เพียงหนึ่งช่องเท่านั้น และด้วยความที่คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทำให้สื่อตกอยู่ในมือของคนบางกลุ่มเท่านั้น อีกทั้งตัวผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมไม่มาก แต่หากเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตอลแล้ว ก็จะสามารถบีบอัดข้อมูลต่างๆให้ส่งได้นับร้อยสัญญาณในคลื่นความถี่เดียว ทำให้คลื่นความถี่ไม่ขาดแคลนอีกต่อไป ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะมีวิทยุและโทรทัศน์ที่เลือกชมได้เป็นพันๆช่อง และนักสื่อสารมวลชน (ที่มีคุณภาพ) ก็จะไม่ตกงาน เนื่องจากยังมี channel ที่ต้องการผู้สร้างเนื้อหารองรับอยู่เป็นจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้การทำให้เป็นดิจิตอล หรือ digitalization นี้เองที่ทำให้เกิดคุณลักษณะ “การหลอมรวมสื่อ” (convergence) ขึ้น เนื่องจากพอทุกสิ่งอยู่ในรูปแบบ 0-1 แบบเดียวกันหมด ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเชื่อมต่อระหว่างสื่อต่างประเภทอีกต่อไป เช่น เมื่อเราบันทึกภาพยนตร์จากโทรทัศน์ระบบดิจิตอลแล้วก็นำมาเผยแพร่ต่อในโลกไซเบอร์ได้ทันที ซึ่งทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างสะดวกสบายกว่าในอดีตมาก อุปสรรคเพียงอย่างเดียวของการใช้ระบบดิจิตอลก็คือ ราคาของอุปกรณ์ที่สูงกว่าระบบอนาล็อก ทั้งอุปกรณ์ของผู้ผลิตอย่างห้องส่งหรือเครื่องรับโทรทัศน์ของผู้ชมก็จำเป็นต้องซื้อใหม่ทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะราคาลดลงเรื่อยๆหากเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับเครื่องรับโทรศัพท์มือถือมาแล้ว

สำหรับปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่หาไม่ได้เลยในสื่อเก่าก็คือ “เสรีภาพในการสื่อสาร” ความคิดเห็นรวมถึงอุดมการณ์ต่างๆของตนเอง เนื่องจากสื่อใหม่เป็นสื่อที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ใครๆก็สามารถเข้ามาร่วมเป็นผู้สร้างเนื้อหาได้ เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น เราจะเห็นได้ว่าในการผลิตสื่อเก่าไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตามนั้น นักสื่อสารมวลชนจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางให้สื่อของตนเอง เพื่อสร้างเอกลักษณ์และเจาะกลุ่มเป้าหมายของผู้อ่าน “กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ” เนื่องจากการผลิตเนื้อหานั้นมีต้นทุนที่สูง ทำให้ส่วนมากแล้วจะต้องเลือกระหว่างการขายสื่อที่เนื้อหามีคุณภาพมากๆ หรือสื่อไฮโซที่มีโมเดลแบบ “เป็นสื่อเฉพาะด้านเหมือน The Economist หรือ The New Yorker ที่เปิดปากเฉพาะเวลาที่ตนเองพูดประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้เหนือกว่าทุกค่าย” หรือจะเป็นสื่อหัวสีที่เน้นนำเสนอเรื่องชาวบ้าน (ซึ่งแน่นอน… ไม่เป็นที่ยอมรับด้านคุณค่าเชิงวารสารศาสตร์) ซึ่งใช้โมเดล “รวบรวมข่าวจากทุกแหล่งที่หาได้เสร็จแล้วก็เปิดให้คนใส่ความคิดเห็นมหาศาล ผู้อ่านจะคุยเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากคุย” ในขณะที่ ผู้ใช้สื่อใหม่กลับไม่ต้องกังวลกับทางเลือกที่จำกัดเหล่านี้เลย เนื่องจากสื่อใหม่มีความยืดหยุ่นสูงมาก

ทั้งนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของสื่อใหม่ไม่เพียงแต่เอาชนะสื่อเก่าหรือเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อไปจากเดิมอย่างมหาศาลเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบเป็นทอดๆต่อเนื่องไปยังกลุ่มชนชั้นต่างๆและสังคมโดยรวมอีกด้วย

เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวกำหนด vs การช่วงชิงอำนาจทางข้อมูลข่าวสาร

มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบของสื่อใหม่ที่มีต่อสังคมได้ นั่นก็คือทฤษฎีเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวกำหนด (Communication Technology Determinism) ของสำนักโตรอนโต

จุดยืนของสำนักแห่งนี้ คือ “ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าช่องทางการสื่อสาร” (C) เพราะนอกจากจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ส่งสาร (Sender) กับผู้รับสาร (Receiver) แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับตัวสาร (M) ก็จะเห็นว่า “ตัวสารเป็นเสมือนกับน้ำที่จะลอยอยู่เฉยๆไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีช่องทางเป็นภาชนะบรรจุ” ดังนั้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆด้านสื่อสารมวลชนเกิดขึ้น เทคโนโลยีนั้นย่อมเป็นสาเหตุ (cause) ที่ “ขยายศักยภาพทางการสื่อสารของมนุษย์ออกไป” ส่วนความเปลี่ยนแปลงทั้งระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับสังคมที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็คือ ผลกระทบ (effect) นั่นเอง

นักวิชาการสำนักโตรอนโตคนสำคัญอย่าง ฮาโรลด์ อินนิส (Harold Adam Innis) ได้ให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับผลกระทบเชิงสังคมซึ่งเกิดจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ณ จุดๆนี้เอง ที่ทำให้ฉันเห็นว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “สื่อใหม่เกิดขึ้นเพราะเหตุใด?” ซึ่งคำตอบนี้เป็นคำตอบที่ดีที่สุดและครอบคลุมที่สุดในการอธิบายสาเหตุของการกำเนิดสื่อทุกประเภท คำตอบนั้นก็คือ…

“การช่วงชิงอำนาจทางข้อมูลข่าวสาร”

เพราะถึงแม้เทคโนโลยีสื่อใหม่จะเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการทหาร แต่การทหารมีไว้เพื่อรองรับใคร… ก็คือชนชั้นปกครองในสังคมมิใช่หรือ? จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีการสื่อสารตกเป็นเครื่องมือทางอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งอยู่เสมอ โดยมีจุดประสงค์ที่จะครอบงำประชาชนที่มีสถานะต่ำกว่า เพื่อรักษาสถานะอันสูงส่งของพวกตนเอาไว้

ยกตัวอย่างเช่น การขยายอำนาจ “ล่าจักรวรรดิ” ของประเทศต่างๆนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้เพียงแสนยานุภาพทางการทหารเท่านั้น แต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการสื่อสารควบคู่กันไปด้วย เช่น ในยุคกรีก กลุ่มผู้ปกครองจะใช้การพูดในที่สาธารณะ (public speaking) เป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวใจและแสดงพลังทางการเมือง และต่อมาในยุคโรมัน (เจ้าแห่งนวัตกรรม) ก็เกิดเทคโนโลยีการสื่อสารขึ้นมากมาย ตั้งแต่การสร้างล้อรถและถนน กระดาษ ตัวเลข รวมถึงตัวอักษรต่างๆ เพื่อขยายอาณาจักร เป็นต้น

ท. เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวกำหนด ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของ "ช่องทาง" การสื่อสารว่ามีอิทธิพลสูงต่อบุคคลและสังคม

นอกจากนี้ เรายังสามารถเห็นเส้นทางการครอบครองและช่วงชิงอำนาจในสื่อนานาประเภทได้นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดย “ใครได้ครอบครองเทคโนโลยีสื่อ ผู้นั้นย่อมครอบครองอำนาจในการสื่อสาร” ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เดิมอำนาจอยู่ในมือของชาวตะวันตก ก่อนจะเข้าสู่มือของเจ้านายและชนชั้นศักดินาในไทย จนการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์และกระดาษทำได้ง่ายขึ้น อำนาจนั้นจึงได้รั่วไหลมาสู่สามัญชนในที่สุด

ทั้งนี้ อินนิสได้วิเคราะห์การกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยีการพิมพ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า กรณีนี้เป็นความพยายามของโลกตะวันตกที่จะขยายพื้นที่และอำนาจไปยังส่วนอื่นๆของโลก โดยใช้ 2 กลยุทธ์ด้วยกันคือ การกระจุกตัวเข้าสู่ศูนย์กลาง (centralization) และกระกระจายตัวออกจากศูนย์กลาง (decentralization)

“การกระจุกตัว” ทำได้โดยผ่านทางการพัฒนาการพิมพ์ ออกกฎหมายสิ่งพิมพ์ สร้างระบบการศึกษาที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทุกอย่างต้องบริหารโดยส่วนกลาง จึงเป็นการรวมความเจริญไว้ที่ศูนย์กลางโดยปริยาย

ส่วน “การกระจายตัว” ทำได้โดยการพัฒนาให้กระดาษมีน้ำหนักเบาและทนทาน สามารถถูกจำหน่ายแจกจ่ายออกไปและผลิตซ้ำได้ง่ายๆ เพื่อที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ของส่วนกลางออกไปสู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่ “อำนาจ” ครอบครอง “เทคโนโลยี” แต่ขณะเดียวกัน “เทคโนโลยี” ก็สร้าง “อำนาจ” เช่นกัน โดยยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากเท่าใด การครอบงำก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ทั้งสองตัวแปรนี้ล้วนแต่มีผลต่อกันและกัน เช่น ในยุคต้นของประวัติศาสตร์นั้นประเทศอังกฤษรุ่งเรืองมาก เนื่องจากมีระบบการเดินเรือที่ทันสมัยและนวัตกรรมโทรเลขที่ถือได้ว่าเปิดโลกของการสื่อสารทางไกลในยุคนั้นๆเลยทีเดียว ดังนั้น ประเทศอังกฤษจึงหวงแหนเทคโนโลยีเหล่านี้มาก จนกระทั่งเสียตำแหน่งผู้นำทางการสื่อสารไปเมื่อโทรศัพท์ถือกำเนิดขึ้นมา ส่วนสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้นเกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งเดิมอำนาจในการสื่อสารจะอยู่ในมือของชนชั้นปกครอง ได้แก่ รัฐบาล ข้าราชการ และทหาร เพื่อโน้มนำมติของประชาชน นอกจากนี้ วิทยุและโทรทัศน์ยังเป็นอาวุธที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำสงคราม เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในช่วงสงครามโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามเย็นซึ่งต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันด้วยอุดมการณ์ล้วนๆ

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ก็ย่อมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจทางสังคมด้วยเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลหรือกองทัพไทยผู้เคย “เก๋า” ในสื่อวิทยุโทรทัศน์มาก่อน จึงไม่ค่อยยินยอมพร้อมใจที่จะคืนคลื่นความถี่ให้กลับเป็นของสาธารณะนัก และพยายามแทรกแซงสื่ออยู่บ่อยครั้ง อันเป็นที่มาของกฎหมายสื่อหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ

สำหรับหัวใจสำคัญของบทความนี้ คือตัว “สื่อใหม่” นั้น แม้จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการทหาร แต่ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการช่วงชิงอำนาจเช่นเดียวกัน แต่เป็นอำนาจของประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการสื่อสารกับสังคมโดยรอบ ด้วยเหตุนี้ พอเกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมมารองรับความต้องการได้พอดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ยิ่งทำให้ความต้องการแสดงออกนั้นเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า นอกจากนี้ คุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตยังมีพื้นฐานที่เป็นสาธารณะสูงมาก คำว่า “สาธารณะ” หมายถึง สำหรับทุกคน (all for all) เป็นความหมายตรงตัวที่ผู้คนรับรู้ได้โดยไม่ต้องนิยามให้อินเทอร์เน็ต ไม่เหมือนกับสื่ออื่นๆอย่างโทรทัศน์ที่ต้องสร้างความเป็นสาธารณะขึ้นมาภายหลังอย่าง Thai PBS ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้นมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ จึงทำให้เกิดการ “ผูกขาด” (monopoly) ได้ง่ายและอำนาจในการสื่อสารก็กระจุกตัวอยู่ท่ามกลางองค์กรสื่อหยิบมือหนึ่งเท่านั้น

อินเทอร์เน็ตจึงเปรียบได้กับกุญแจที่มาไขประตูเขื่อน ทำให้อำนาจในการสื่อสารไหลบ่าสู่ฝูงชน สลายศูนย์กลางและกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางอย่างกว้างขวาง เช่น ใครอยากจะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคมใดๆก็สามารถเผยแพร่เนื้อหาออกสู่สาธารณะได้ทันที อาจผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อสังคมต่างๆ โดยไม่ต้องง้อนักข่าวให้ช่วยเจียดเวลามารายงานข่าวให้อีกต่อไป ซึ่งสั่นคลอนฐานันดรของนักสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก

และถึงแม้สื่อเก่าจะได้รับการยกย่องอยู่เสมอในเรื่องของมาตรฐานทางวิชาชีพและจรรยาบรรณที่ดูจะเหนือกว่าสื่อใหม่ แต่ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในประเทศไทยช่วงปี 2552 – 2553 นั้น สื่อเก่าที่เป็นสื่อกระแสหลักจะถูกรัฐบาลควบคุมก่อนเป็นอันดับแรกเนื่องจากมีอิทธิพลต่อผู้ชมสูง ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรสื่อบางส่วนที่มีอุดมการณ์เป็นของตนเอง และบางแห่งก็เป็นสื่อของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่ถูกใช้เป็นเวทีสร้างวาทกรรมเพื่อโจมตีรัฐบาลโดยเฉพาะ และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดกั้น ทำให้สื่อทั้งสองฝั่งขาดความเป็นกลางอย่างยิ่ง สื่อกระแสหลักจำนวนมากจึงตกเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดการจลาจลนั้น สื่อเก่ายังไม่สามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิดและทันท่วงทีเหมือนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

อย่างไรก็ดี อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สามารถพ้นจากข้อสงสัยของนักวิชาการบางส่วนที่ว่า ในขณะที่ประชาชนใช้สื่อเพื่อกระจายอำนาจ แต่กลุ่มผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรวมอำนาจกลับสู่ตนเองด้วยหรือไม่?

“เสรีภาพ” กับ “วิจารณญาณ” : ส่วนผสมที่ลงตัว

แม้สื่อใหม่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคสื่อมีความสะดวกสบายและมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสังคมที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากสภาพแวดล้อมเช่นนี้ย่อมกระตุ้นให้ผู้ใช้สื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ อภิปราย เสนอแนะ และต่อยอดความคิดซึ่งกันและกัน แต่ก็มีข้อพึงระวังคือ สื่อใหม่ก็อาจเป็น “ดาบสองคม” ได้ไม่แตกต่างจากสื่อเก่าเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น สื่อใหม่ไม่ได้ทำให้สังคมมีภูมิปัญญาเพิ่มขึ้นเสมอไป เนื่องจากผู้ใช้มักจะพึ่งพา

ตัวอย่างของ cyber bullying หรือการรังแกกันในโลกไซเบอร์ เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสื่อใหม่

เทคโนโลยีอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการอุบัติขึ้นของอินเทอร์เน็ต ความรู้จำนวนมากจึงอยู่แต่ในอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน และเมื่อใดที่ผู้ใช้สื่อต้องการข้อมูลก็ค่อยเข้าไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต ดังนั้น พอเรียนเสร็จแล้วจึงลืมได้ง่าย ไม่เหมือนกับยุคปู่ย่าตายายที่ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องจดจำทำความเข้าใจข้อมูลสำคัญๆให้ได้ตลอดรอดฝั่งเสมอ

นอกจากนี้ ธรรมชาติของสื่อใหม่ยังมีความเป็นกลุ่มเฉพาะสูง (niche) จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายคลึงกันจะเข้าเว็บไซต์เดียวกัน หรือเป็นสมาชิกของกลุ่ม facebook เดียวกัน ทำให้มีแนวโน้มที่จะถูกเร่งเร้าให้แสดงอุดมการณ์ตามคนหมู่มากได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้ใช้สื่อโดยมากไม่ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในโลกไซเบอร์ (anonymous) ในเชิงจิตวิทยาจึงทำให้เกิดความรู้สึกกล้าหาญมากขึ้นที่จะทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำในชีวิตจริง รวมถึงสำนึกที่จะยับยั้งชั่งใจก็ลดลงด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาเรื่อง “อาชญากรรม” ในโลกออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยกทางการเมืองให้เพิ่มขึ้น การข่มขืนซ้ำ ล่าแม่มด (รวมถึง social sanction และ cyber bullying ด้วย) หมิ่นประมาท สร้างข่าวลือ รวมทั้งปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาด้วย (plagiarism)

“สื่อใหม่ทำให้เราสื่อสารกันมากขึ้น แต่เราเข้าใจกันมากขึ้นจริงไหม?” จึงเป็นคำถามที่สังคมจะต้องเร่งหาคำตอบให้ได้…

อย่าให้ใครเขาว่าเอาได้ว่าคนไทยใช้ “เสรีภาพ” ไม่เป็น!

ในยุคปัจจุบันที่ประชาชนยังคงกังขาเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกลุ่มต่างๆพยายามสอดไส้กฎหมายเพื่อรักษาอำนาจเก่าที่เคยมีในสื่อไว้ รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่แอบแฝงมากับองค์กรสื่อต่างๆ สื่อใหม่จึงยิ่งมีความจำเป็นต่อสังคม แต่ว่าจะสามารถพัฒนาสังคมหรือทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงนั้น ทั้งหมดทั้งมวลย่อมขึ้นอยู่กับตัวผู้บริโภคสื่อเอง ดังนั้น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจึงจำเป็นต้องมี “วิจารณญาณ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากกว่าอำนาจหรือเทคโนโลยีใดๆทั้งสิ้น

ประชาชนอย่างเราๆก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์จะใส่ใจดำเนินการปฏิรูปสื่อต่อจากรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์อย่างจริงจัง (และจริงใจ) เพื่อที่สื่อใหม่จะได้เป็น “ชัยชนะของข้อมูลข่าวสาร” อย่างเต็มภาคภูมิ
———————————————————————–

อ้างอิง
เอกสารประกอบการเรียนการสอนโดย อ. ณรงค์ ขำวิจิตร์
เอกสารประกอบการเรียนการสอนโดย อ. อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์
สมสุข หินวิมานและกาญจนา แก้วเทพ.(2551). สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองและสื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.669 หน้า.

Leave a comment »

ใครปลูก-รดน้ำ ให้ New Media เบ่งบาน? #5245257028 วาลัด เสน่ห์

ใครปลูก-รดน้ำ ให้ New Media เบ่งบาน?

หลังจากที่คราวก่อนได้เปรียบเทียบความแตกต่างและตั้งตารางข้อดีข้อเสียระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ไปแล้วว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งทางรูปร่าง หน้าตา รวมถึงผู้กุมอำนาจสื่อทั้งสองรูปแบบ ครั้งนี้เรามาดูกันต่อ ว่าทำไมอยู่ดีๆ New Media ถึงถือกำเนิด เหตุปัจจัยอะไรเกื้อหนุนให้มีสื่อใหม่อย่างนี้เกิดขึ้น ผมขอนำเสนอสามสาเหตุหลักที่ทำให้ New Media เกิดขึ้นมาและเป็นที่นิยมนะครับ

Read the rest of this entry »

Leave a comment »

ปลายทางความพยายามของเรา #กันตพร สวนศิลป์พงศ์ 5245008128

กันตพร สวนศิลป์พงศ์

ชั้นปีที่ 3 ภาควารสารสนเทศ รหัส 5245008128

ปลายทางความพยายามของเรา

 

ทำไมสื่อใหม่จึงเกิดขึ้น?

คำถามนี้ชวนให้ข้าพเจ้านึกย้อนไปถึงสมัยปีค.. 1440เมื่อแท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กได้กำเนิดขึ้น นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลมาถึงเราในวันนี้ แท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กทำให้มนุษย์สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ในวงกว้าง เราเริ่มมีหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งบอกเล่าข่าวคราวต่างๆ ความรู้แพร่ขยายออกไปสู่ผู้คน ความเชื่อดั้งเดิมบางอย่างก็ถูกขจัดหายไป อำนาจเก่าอย่างศาสนจักรซึ่งผู้คนเคยเชื่อว่าเป็นที่มาของความรู้ก็ถูกลดบทบาทลง

วันนั้น เคยมีใครถามหรือไม่ ว่าทำไมแท่นพิมพ์จึงเกิดขึ้น

คำตอบของการเกิดขึ้นในทุกนวัตกรรมสื่อ ข้าพเจ้าคิดว่าคือความพยายามของมนุษย์ที่จะเผยแพร่และแสวงหาข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเองโดยไม่ถูกจำกัดไว้โดยอำนาจอื่น

ทั้งนี้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีความอยากรู้อยากเห็น ความต้องการที่จะแสวงหาความรู้ต่างๆ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี รองศาสตราจารย์ภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อธิบายไว้ว่า มนุษย์เป็นผลผลิตของวิวัฒนาการและการสร้างสรรค์ การติดต่อสื่อสารของมนุษย์เป็นไปอย่างกว้างขวางด้วยการพูด การฟัง อ่านและเขียน เพื่อแสดงออกซึ่งแนวคิดและประสบการณ์ต่างๆ รวมทั้งการตั้งคำถามและการสังเกตเพื่อแสวงหาความรู้ความจริงต่างๆเกี่ยวกับมนุษย์เองและสิ่งแวดล้อม

ด้วยธรรมชาติของมนุษย์นี้เอง ทำให้เราไม่เคยหยุดที่จะมองหาเครื่องมือการสื่อสารที่จะสามารถเติมเต็มความอยากรู้ได้ดีกว่าเดิม (ก้าวข้ามข้อจำกัดของเครื่องมืออันเก่า) และเครื่องมือนั้นๆเองก็จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับสังคมต่อไปอีกทอดหนึ่ง

 

ในเวลานี้ หากเราพูดถึงข้อจำกัดของสื่อเก่า เราก็คงนึกถึงข้อจำกัดต้นๆอย่างความช้า ไม่รวดเร็ว แหล่งข้อมูลที่น้อยกว่า ซึ่งทุกวันนี้ สื่อใหม่ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงด้านมิติเวลาและพื้นที่จนมีชัยชนะเกือบจะขาดลอย เราไม่ได้รอข่าวในตอนเช้าของแต่ละวัน ข่าวสามารถมาตอนไหนก็ได้ และเราก็มีแหล่งข่าวมากมายให้เลือกเปิดรับข้อมูล

แต่นอกจากข้อจำกัดโดยตรงของตัวสื่อแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าข้อจำกัดทางอ้อม หรือระบบรูปแบบในการใช้สื่อนั้นก็มีส่วนทำให้เราพยายามต่อสู้และพัฒนาเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดนั้นเช่นกัน ในยุคสื่อสารมวลชน แม้การสื่อสารจะเปิดกว้างขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยอดีต แต่การสื่อสารในสังคมยังอยู่ในระบบที่มี คนตัวใหญ่อย่างรัฐบาล บริษัทองค์กรที่มีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวนั้นจะถูกเปิดหรือปิดก็อาจมีต้นเหตุจากเหล่าคนตัวใหญ่ และพื้นที่ในสื่อนั้นก็มีเพื่อสงวนไว้ให้คนตัวใหญ่ทั้งนั้น ประเด็นนี้เราคงจะมองเห็นได้ว่า หากสื่อถูกกุมอำนาจโดยคนตัวใหญ่ ความเป็นประชาธิปไตยของสังคมจะถูกลดทอนลงไปอย่างแน่นอน

แต่เมื่อภูมิทัศน์การสื่อสารของสื่อใหม่ทำให้การสื่อสารกลับสภาพมาอยู่ในระนาบเดียวกัน คนตัวเล็ก หรือคนธรรมดาก็เป็นเจ้าของพื้นที่สื่อได้ง่ายขึ้น และทำให้ข้อมูลข่าวสารไม่อาจถูกปิดบังได้โดยง่ายอีกต่อไป หากมองในแง่ความเป็นประชาธิปไตย สื่อใหม่ได้ทำให้พื้นที่สาธารณะ (public sphere) มีมากขึ้น ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสวงหาและรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น เรามองเห็นภาพคำว่า อำนาจเป็นของประชาชนมากขึ้น

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยแสดงทัศนะไว้ว่า สื่อคืออำนาจ ในสังคมประชาธิปไตย ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสื่ออยู่ในมือประชาชน หากสื่อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกทุน สื่อนั้นจะปิดบังเสรีภาพของเรา

ทั้งนี้ เอเวอร์เร็ท โรเจอร์ส นักวิชาการทางการสื่อสารได้เสนอแนวคิดต่อยอดทฤษฎีแง่อรรถประโยชน์ของสื่อใหม่ต่อประเทศกำลังพัฒนาไว้ดังนี้

สื่อใหม่นั้นสามารถเชื่อมโยงประชาชนที่ไร้โอกาสกับผู้กำหนดนโยบายหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจภาครัฐ อันจะทำให้เสียงของประชาชนเหล่านั้นไปมีส่วนในกระบวนการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda setting)

สื่อใหม่เพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนหรือชุมชน ในการสื่อสารเพื่อรณรงค์ อันมีผลต่อการกำหนดอนาคตของสังคมของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความปรารถนา หรือความต้องการของชุมชน

สื่อใหม่เป็นช่องทางส่งผ่านข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสังคมและทางออกที่เป็นไปได้

ตัวอย่างการก้าวข้ามข้อจำกัดและการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยนั้น ย้อนมองดูเหตุการณ์ใกล้ๆที่เพิ่งผ่านมาอย่างอุทกภัยปีพ..2554 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหรือ ศปภ. หน่วยงานของรัฐมีความล้มเหลวทางการสื่อสารในสภาวะวิกฤต ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นได้ ทั้งนี้มาจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ข้อมูลที่ถ่ายทอดมาไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ตอบคำถามในสิ่งที่ประชาชนต้องการทราบ แนวทางของศปภ.ที่เลือกจะปิดบังข้อมูลบางส่วนโดยหวังเพื่อจะคุมสถานการณ์ไม่ให้ประชาชนเกิดความตระหนกกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม ในเหตุการณ์นี้ สื่อใหม่จึงได้กลายเป็นพื้นที่ให้กลุ่มคนนอกภาครัฐ กลุ่มคนตัวเล็กต่างๆได้ออกมาแสดงพลังของตนบ้าง

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ ได้เขียนบทความ สื่อใหม่กับน้ำท่วมไทย 2554 โดยมีใจความส่วนหนึ่งบรรยายว่า ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นกลางรุ่นใหม่ได้ตัดข้ามการพึ่งพิงสื่อเก่าที่มีลักษณะเป็นทางการ มาอาศัยสื่อออนไลน์ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายและยืดหยุ่น คล่องตัวกว่าเพื่อการติดตามและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การระดมสรรพกำลัง การจุดประเด็นใหม่ๆ และการคลี่คลายปัญหาสารพัดสารพันอันสืบเนื่องจากภัยพิบัติที่ประสบ

เมื่อสถานการณ์คืบคลานจนเป็นวิกฤติของประเทศชาติที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของทั้งคนชนบทและคนเมือง สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีพลวัตสูงอย่าง เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ ก็ได้กลายมาเป็นพื้นที่ร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งรับกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำท่วมกรุงเทพมหานครที่ชาวเมืองยังไม่ค่อยประสีประสาและออกจะตื่นตระหนก ทำอะไรไม่ค่อยถูก ด้วยการให้ตั้งแต่ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปริมาณและการไหลของน้ำไปจนถึงข้อมูลพื้นๆ แบบ how to ที่ไม่สามารถหาได้จากคู่มือใดอย่างการวางกระสอบทรายให้ถูกวิธี การห่อเปียโนให้น้ำไม่เข้า เป็นต้น

เรียกได้ว่า สื่อใหม่ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนคนธรรมดาเพื่อช่วยกันรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในความเป็นไปของประเทศที่เห็นได้เป็นรูปธรรม เพราะสื่อใหม่ทำให้คนมีพื้นที่และโอกาสมากขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ ข้อจำกัดอีกอย่างที่สื่อใหม่ได้ก้าวข้ามมานั่นคือ สื่อใหม่เป็นพื้นที่ที่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ ไม่มีรูปแบบตายตัวเหมือนสื่อเก่า เรียกได้อีกอย่างว่ามีลูกเล่นมีความสนุกสนานมากกว่า เพราะฉะนั้น นอกจากคนตัวเล็กจะมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นแล้ว แต่ละคนยังสามารถปรับรูปแบบการนำเสนอได้ตามต้องการ ทำให้การแสดงออกมีเสรีภาพมากขึ้นและมีการสร้างอัตลักษณ์อยู่ในนั้นด้วย

ด้วยคุณสมบัติที่ความยืดหยุ่น มีอิสระ และปรับแต่งได้ตามความต้องการ ความเป็นสื่อใหม่ยังได้ตอกย้ำแนวคิดแบบ หลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การปฏิเสธความเชื่อหลายๆอย่างที่ยอมรับกันในคติสมัยใหม่ (modernism) ในที่นี้ หนึ่งในการปฏิเสธความเชื่อคือการปฏิเสธเรื่องความเป็นสากลและมาตรฐานที่เป็นเอกภาพ โดยคติหลังสมัยใหม่จะมองหารูปแบบเฉพาะท้องถิ่นและเฉพาะกาลมากกว่ารูปแบบที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ นักคิดแนวนี้เห็นว่าการพยายามสร้างทฤษฎีสากลมองข้ามชีวิตจริงของคนในสังคม ที่มีรายละเอียดและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย

ในขณะที่คติสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบสังคม (order) และพยายามสร้าง มาตรฐานเพื่อให้เกิดวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ คติหลังสมัยใหม่กลับให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ คติหลังสมัยใหม่จึงให้คุณค่าและความสำคัญกับกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการจัดลำดับชั้นสูงต่ำว่าอะไรสูงส่งกว่า ดีกว่าหรือสำคัญอะไรกว่า นักวิชาการสายนี้จึงมักให้ความสนใจกับวัฒนธรรมราษฏร์หรือแนวคิดของคนชายขอบ (จากบทความ ถอดรหัส : Postmodernism)

จะเห็นได้ว่าจากคุณสมบัติต่างๆที่กล่าวมา การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ได้มอบพื้นที่ให้คนตัวเล็ก และทำให้การสื่อสารนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับแนวคิดส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้คนมีเสรีภาพในสื่อมากขึ้น ก็มีอีกมุมหนึ่งที่กลับกลายเป็นการทำลายประชาธิปไตย โดยสมชัย สุวรรณบรรณ กรรมการบริหารไทยพีบีเอสได้ใช้คำว่า สื่อชนเผ่า” (partisan press) ในการอธิบายกลุ่มคนซึ่งใช้เสรีภาพของสื่อในทางที่ผิด โดยใช้สื่อในการชักจูงให้คนมีความคิดไปในทางเดียวกัน หรืออาจทำให้เกิดการพากันไปละเมิดสิทธิผู้อื่น เกิดการทำร้ายผู้อื่นและทำให้เกิดการเกลียดชัง ทำให้เกิดการแตกแยกในประเทศราวกับเป็นการแบ่งเผ่าพันธุ์ โดยสื่อเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบทีวีดาวเทียม สื่อออนไลน์ หรือวิทยุชุมชน และสื่อเหล่านี้จะพยายามทำให้ฝ่ายของตนมีชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณของสื่อ

ในประเด็นนี้ทำให้เห็นว่าแม้ว่ามนุษย์พยายามที่จะแสวงหาวิธีการที่นำมาซึ่งความรู้ที่ดีขึ้น ผู้คนมีเสรีภาพในการสื่อสารมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพก็ยังตกเป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายประชาธิปไตยและเกิดการครอบงำทางความคิดขึ้นในสังคมเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เราจึงต้องไม่ลืมที่จะคำนึงว่า สุดท้ายแล้ว เราในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีต่างหาก เป็นคนที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคมได้

 

อ้างอิง

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กับ ปัญหาสื่อชนเผ่า (partisan press) http://www.thaireform.in.th/component/flexicontent/item/5861–partisan-press-.html

มองต่าง สมชัย สุบรรณบรรณ‘ : บทบาทสื่อใหม่กับการเลือกตั้ง

http://prachatai.com/journal/2011/05/34649

ถอดรหัส : Postmodernism

http://downtoearthsocsc.thaigov.net/1/modules.php?name=News&file=article&sid=21

บทบาทอินเตอร์เน็ตต่อประชาธิปไตย

http://philtech2006.blogspot.com/2011/03/blog-post.html

สื่อใหม่กับน้ำท่วมไทย 2554

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/pirongrong_r/20111026/415640/สื่อใหม่กับน้ำท่วมเมืองไทย-2554.html

http://202.28.25.135/~519932101/investigation/Communication%20Technology%20Determinism.pdf

เอกสารประกอบการเรียนวิชา ประวัติหนังสือพิมพ์และวารสารสนเทศ โดยศ.กิตติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด

Leave a comment »

การมาถึงของสื่อใหม่ : “คุณ” กำลังหมุนโลกใบนี้ #ชิน วังแก้วหิรัญ 524 52512 28

สวัสดีครับ คุณบุคคลแห่งปี

ใช่แล้วครับ  คุณนั่นแหละ  คุณบุคคลแห่งปีImage

ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่  ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว  “คุณ” ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ฉบับสุดท้ายของปี 2006 ให้เป็น “บุคคลแห่งปี”

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานสำหรับนิตยสารไทมส์ที่จะเฟ้นหาบุคคลผู้ที่สร้างผลกระทบมากที่สุดต่อเหตุการณ์ในระหว่างปีนั้นให้กลายมาเป็น “บุคคลแห่งปี” ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์    เรียกได้ว่าเป็นไทมส์ฉบับที่ได้รับการติดตามมากที่สุดของทุกปีเลยก็ว่าได้  และในปี 2006 นิตยสารที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในยุคที่นิตยสารพากันตายไปหมดนี้ได้ยกย่องให้ “คุณ” เป็นบุคคลสำคัญแห่งปี  ขึ้นแท่นเดียวกับบุคคลประวัติศาสตร์อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, มหาตมะ คานธี หรือแม้กระทั่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ถึงตอนนี้  คุณอาจจะกำลังสงสัยว่า “แล้วฉันจะรู้ได้อย่างไรว่า ‘คุณ’ ที่ไทมส์หมายถึง  หมายถึง ‘ฉัน’”

ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้  ผ่าน wordpress.com ไม่ว่าคุณจะเข้าถึงบทความนี้ด้วยคอมพิวเตอร์พีซี โน้ตบุ้ค สมาร์ทโฟน หรือสื่ออื่นๆที่ผมไม่อาจจินตนาการถึงได้  เท่านี้ก็นับว่าคุณเป็น “คุณ” ที่ไทมส์ได้ยกย่องแล้วล่ะครับ

และหากคุณนำบทความนี้ไปแชร์ใน facebook  ทวีตต่อใน twitter หรือวิพากษ์วิจารณ์เป็นวิดิโอคลิปใน youtube  คุณยิ่งดิ้นไม่พ้นจากนิยามบุคคลแห่งปีที่ี่นิตยสารไทมส์ได้ให้ไว้

ไทมส์ได้ให้เหตุผลที่คุณและเพื่อนร่วมโลกออนไลน์อีกหลายล้านคนทั่วโลกให้เป็นบุคคลแห่งปีว่า  ก็เพราะคุณทุกคนต่างร่วมมือกัน(อย่างไม่รู้ตัว)ในการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ของโลกจากการมีส่วนในการสร้างเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (user-generated content) ให้แก่สารานุกรมออนไลน์อย่าง Wikipedia, เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง MySpace และ Facebook  ระบบปฏิบัติการ GNU/Linux และเว็บไซต์อีกมากมายที่มีลักษณะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สนับสนุนข้อมูล  หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “เว็บ 2.0” จนเกิดพลังมหาศาลที่เปลี่ยนแปลงวิถีของโลกอย่างที่ Lev Grossman บรรณาธิการของไทมส์ได้อธิบายไว้ว่าพลังจากพวกคุณไม่ได้เปลี่ยนโลกเพียงอย่างเดียว  แต่มันได้เปลี่ยน ‘รูปแบบ’ ในการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม  “คุณ” ไม่ใช่คนๆแรกที่ได้ทำการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารของโลก  เพราะก่อนหน้านี้บรรพบุรุษของเราก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารมาแล้วหลายครั้งด้วยกัน

ImageMarshall McLuhan ศาสตราจารย์ชาวแคนาดาผู้เป็นนักคิดในสำนักโตรอนโต เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและระบบสื่อสารมวลชน  โดยกล่าวไว้ว่า สื่อนั้นมีอำนาจมากๆพอที่จะส่งผลทำให้สังคมเปลี่ยนได้  และยังมีความเชื่อว่าสังคมโลกกำลังจะถูกย่อส่วนให้เล็กลงกลายเป็น “หมู่บ้านโลก” (Global Village)  ทั้งๆที่ในช่วงเวลาที่เขาได้ออกมาประกาศทฤษฎีเหล่านั้น  มันยังเป็นช่วงเวลาที่ชายหนุ่มอเมริกันหลายคนต้องออกไปถือปืนรบในสมรภูมิสงครามเวียดนาม  หรือบางคนก็ออกไปร้านตัดผมเพื่อตัดผมทรง The beatles  ซึ่งแน่นอนว่าในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จักระบบ World Wide Web ที่ถือกำเนิดขึ้นในสามทศวรรษต่อมา

และเชื่อไหมว่าการที่คุณอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตอนนี้  มันพิสูจน์ได้ว่า “แนวคิด” ของเขานั้นเป็นความจริง

แนวคิดแรก : Medium is the message

McLuhan เชื่อว่า “สื่อ” หรือ “ช่องทางในการสื่อสาร” คือ ส่วนที่สำคัญที่สุดของการสื่อสาร  สื่อมีความสำคัญกว่าสาร เขากล่าวว่า สื่อที่เด่นในแต่ละยุคสมัย จะสามารถส่งผลและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนมากกว่าสิ่งที่สื่อนั้นส่งสาร หรือส่งเนื้อหาไป

ยุคชนเผ่า > ยุคอ่านออกเขียนได้ > ยุคการพิมพ์ > ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ

จะเห็นได้จากการแบ่งยุคของสื่อที่แบ่งตามพัฒนาการการสื่อสารว่ามันกำหนดและเปลี่ยนวิถีชีวิตและรูปแบบการสื่อสารของมนุษย์  จากยุคแรกที่เราสื่อสารกันแบบสองทางโดยอาศัยภาษาพูด (Spoken words) เป็นสื่อ มาสู่ยุคที่เริ่มสื่อสารกันด้วยภาษาเขียน (Written  language) ตามด้วยยุคแห่งการพิมพ์ (Printing)  ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประดิษฐกรรมแท่นพิมพ์โดยโยฮันน์ กูเตนเบิร์ก ที่ทำให้เกิดการกระจายข้อมูลข่าวไปสู่คนจำนวนมากในเวลาเดียวกันหรือใกล้กัน  ที่พลิกพายุโรปเข้าสู่โลกยุคใหม่  ก่อนจะมาถึงยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ  อันเป็นยุคที่สิ่งพิมพ์เริ่มคลายตัวลง  เมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องโทรเลข  ซึ่งทำให้มีการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ไม่มีข้อจำกัดทางด้านระยะทางที่ไกลกัน  รวมถึงการกำเนิดของสื่อโทรทัศน์ที่ทำให้สมาชิกในแต่ละสังคมรู้และเห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ต่างๆของโลก  เราสามารถชื่นชมความงามของพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสและเคท มิดเดิลตันได้โดยที่ไม่เคยแม้แต่จะเดินทางไปต่างประเทศเลยซักครั้งในชีวิต  และนั่นเรียกว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของ “หมู่บ้านโลก” (Global Village) แล้ว

แนวคิดที่สอง : Global Village

McLuhan เชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยทำให้ประสบการณ์ของมนุษย์สามารถแผ่ขยายกว้างออกไป สื่อทุกชนิดคือ การขยายประสบการณ์ด้านผัสสะของมนุษย์ (Extension of Experience) โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “หมู่บ้านโลก” (Global Village) ทำให้คนจำนวนมากสามารถรู้เรื่องราวที่ไหนก็ได้ ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วหรือเวลาเดียวกัน แม้จะที่อยู่ทางกายภาพที่อยู่กันคนละซีกโลกก็สามารถทราบเรื่องราวในเวลาจริงได้ผ่านสื่อ เช่น เว็บ และอินเทอร์เน็ต  ดังนั้นอุปสรรคในประเด็นที่เกี่ยวกับระยะทาง หรือ กาลเวลา กลายเป็นเรื่องไร้ความหมายและไม่สามารถปิดกั้นประสบการณ์ของมนุษย์

แนวความคิดทั้งหมดทั้งมวลของ McLuhan (Technological Determinism) อาจสรุปเป็นใจความสั้นๆได้ว่า

“เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดสื่อ  

และ ‘สื่อ’ ก็เป็นตัวกำหนด ‘กลไกสังคม’ มากกว่าตัว ‘สาร’

เพราะสื่อสำคัญกว่าสาร”

อย่างที่ได้กล่าวกันไปแล้วว่า  เจ้าตัวสื่อนั่นมันมีอิทธิพลมากมายพอที่จะเปลี่ยนแปลงกลไกของสังคม  มากกว่าตัวสารที่สื่อออกมา  เราจะเห็นได้ว่าการที่เข้าสู่ยุคแท่นพิมพ์นั้นได้เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของโลกจากยุคกลาง (Medieval) หรือยุคมืด (Dark age)  มาสู่ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ (Modern age) ที่ทำให้มนุษย์หันมาเชื่อมั่นในตนเอง (มนุษยนิยม) หันมาสนใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์  การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล  การเดินทางออกนอกยุโรปเพื่อล่าอาณานิคม  ปรากฎการณ์ East meet west  การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย (Democracy)  การเกิดรัฐชาติ  ลัทธิจักรวรรดินิยม สงครามโลก ระบบทุนนิยม กลายมาเป็นหมู่บ้านโลกจริงๆอย่างที่ McLuhan ได้เคยคาดการณ์ไว้

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากว่า “เราเปลี่ยนสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร”

สื่อที่เกิดขึ้นหลังจากที่แท่นพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นมานั้น  ต่างเป็นตัวชี้ชะตาของสังคมโดยแท้  หนังสือพิมพ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อชักชวนให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านศาสนจักร ภาพยนตร์ได้ถูกใช้เป็นสื่อชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อปลุกกระแสชาตินิยม  นิตยสารสามารถทำให้ผู้หญิงออกไปซื้อเครื่องสำอางตามที่โฆษณาไว้ได้  โทรทัศน์ทำให้คนจากที่หนึ่งเห็นวิถีชีวิตของคนอีกฝั่งโลกหนึ่งได้โดยที่ไม่เคยไปสัมผัสเองกับตา  และวิทยุก็สามารถหลอกให้คนเชื่อได้ว่ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง

วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นภายใต้ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศก็เริ่มมีวิวัฒนาการจากวันที่โทรเลขถือกำเนิดขึ้นเป็นต้นมา  มนุษย์เริ่มมีเทคโนโลยีต่างๆเพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในชีวิต  เทคโนโลยีสื่อสารได้พัฒนาเรื่อยมา  ระบบ World Wide Web ถือกำเนิดขึ้น  เชื่อมโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน  เราสามารถคุยกับแฟนของเราที่อยู่ประเทศบัลแกเรียได้  เพียงแค่มี “สื่อ” ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในทันที  แล้วเราจะไปแชทใน msn, โพสรูปบนวอลใน facebook หรือเปิดวิดิโอแชทดูหน้ากันให้หายคิดถึง  ก็สุดแล้วแต่จะเลือกกันไป  จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นมาของรูปแบบสื่อใหม่อย่าง Social Media ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิดของ McLuhan ที่ว่า สื่อนั้นสำคัญกว่าสารเพียงไร

สื่อใหม่อย่างเว็บเชิงสังคม (Web 2.0) ซึ่งให้ผู้ใช้มามีส่วนร่วม ที่ผุดขึ้นมามากมายระหว่างทศวรรษ 90 ถึง 2010 ตั้งแต่ Geocities (1994), Googles (1998), Friendster (2002), MySpace (2003), Facebook (2004), Youtube (2005) และ Twitter (2006)  ได้ทำการปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารอีกครั้ง  จากในอดีตที่ผู้รับสาร (audience) อยู่ในสถานะเป็นผู้ที่รับสารเพียงฝ่ายเดียว  กลายมาเป็นผู้ผลิตสารเสียเอง อย่างสโลแกนของ Wikipedia ที่ว่า Anyone can edit  สื่อใหม่เหล่านี้จึงได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ  ผู้ใช้สื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและส่งข้อมูลออกไปได้อย่างรวดเร็ว   รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ผู้รับสารสามารถรับได้รอบด้านมากขึ้น  เพราะอยู่ในฐานะที่จะเลือกรับสื่อได้ตามความต้องการ

โลกทั้งใบเปลี่ยนไปเพราะสื่อที่ใช้ในการสื่อสารเปลี่ยน

การเกิดขึ้นมาของเว็บ 2.0 นี่เองถึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไม “คุณ” ถึงได้เป็นบุคคลแห่งปี

เพราะโลกทั้งใบกำลังเคลื่อนไปด้วยพลังเล็กๆจาก “คุณ” นี่เอง

 

อ้างอิง

เทคโนโลยีสารสนเทศและทฤษฎีการสื่อสาร  (http://www.stou.ac.th/Thai/Schools/sca/MA_TEXT/UNIT10.txt )

50 People who matter now (http://money.cnn.com/magazines/business2/peoplewhomatter/)

You (Time’s person of the year) (http://en.wikipedia.org/wiki/You_(Time_Person_of_the_Year))

Marshall McLuhan (http://en.wikipedia.org/wiki/Marshall_McLuhan#Technological_determinism)

เอกสารประกอบการเรียน “ปฐมบทสู่พลังมวลชน Social Media”

Leave a comment »