cujrnewmedia

Just another WordPress.com site

Social Network Marketing : คัมภีร์ใหม่ รวยง่ายๆไม่เสียตังค์ #สุกัญญา สุขเลิศ 5245135128

on February 20, 2012

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและผันผวนมากมีความไม่แน่นอนสูง สังคมในปัจจุบันเองก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ส่งผลให้การทำธุรกิจต่างๆมีผลกระทบและต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อการแข่งขันทางการตลาดรองรับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ต่างฝ่ายต่างต้องพัฒนาให้ทันต่อโลกสมัยใหม่ที่กลายเป็นสังคมแห่งการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ สื่อใหม่มีบทบาทในการสร้างกระแสสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการสื่อสารและการให้ข้อมูลข่าวสารใครๆก็ใช้ Social media ดังนั้น Social Network Marketing การตลาดบนสื่อใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น

จากการสำรวจจำนวนผู้ใช้social networkต่างๆพบว่า ไทยติดอันดับ 21 จากจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ส่วนอันดับ 1 เป็นของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐที่มีผู้ใช้กว่า 133 ล้านคน จำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ทั่วโลกมีจำนวนทั้งหมด 517 ล้านคน

จะเห็นได้ว่า เมื่อนำประชากรที่ใช้สื่อใหม่ในทุกๆมุมโลกมารวมกันไม่ใช่เฉพาะ Facebook เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง Twitter Youtube LinkedIn ต่างๆ เมื่อรวมกันจะได้จำนวนมากกว่า 40% ของประชากรโลกทั้งหมดและ งานวิจัยล่าสุดของ Pew Internet  ยังบอกไว้อีกว่า มีมากกว่า 75%ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ทรับข่าวสารต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางอีเมล หรือข้อความต่างๆ บนเว็บไซต์สังคมออนไน์ และนอกจากนี้อีกประมาณ 52% ยังส่งต่อข่าวสารที่ตัวเองได้รับผ่านสื่อเหล่านั้นอีกด้วย น้อยคนนักที่เสพข่าวจากสื่อเพียงสื่อเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วจะรับข่าวสารต่างๆ ผ่านสื่อประมาณ 4-6 สื่อในหนึ่งวันด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าทีวียังเป็นสื่อหลักสำหรับการเสพข่าว แต่อินเตอร์เน็ตก็ทำคะแนนขึ้นมาเป็นช่องทางในการเสพข่าวอันดับที่ 2 แซงหน้าทั้งวิทยุ และหนังสือพิมพ์ไปเรียบร้อย ยกเว้นว่า หนังสือพิมพ์นั้นจะมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือจริงๆ อย่างเช่น New York Times เป็นต้น และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ 33% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้รับข่าวสารต่างๆ ผ่านมือถือ และ 28% ใช้บริการ Personalized News ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้จะเลือกแหล่งที่มาของข่าวตามใจชอบ โดยจัดไว้เป็น Customized Page

แต่ที่น่าจับตามองไปมากกว่านั้นก็คือว่าผู้เสพข่าวจำนวนมากทุกวันนี้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ข่าวต่างๆ โดย 37% บอกว่าตัวเองเคยมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ข่าว ออกความคิดเห็นบนเว็บไซต์ข่าว หรือส่งต่อข่าวนั้นๆ ผ่านเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์อย่างเช่น Facebook และ Twitter

ผลการวิจัยยังพบอีกว่าผู้บริโภคต้องการการโฆษณาจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่เสนอที่ใส่ใจผู้บริโภคจริงมากกว่าพยายามส่งข้อมูลออกมาโดยไม่คำนึงว่าผู้บริโภค คิด รู้สึกและต้องการอะไร ผู้บริโภคไม่ชอบเทคนิคที่ดูมีเล่ห์เหลี่ยมในการขายสินค้าและต้องการให้บริษัทต่างๆ มีความซื่อสัตย์ รวมทั้งเปิดใจรับทั้งข้อดีและข้อเสียของผลิตภัณฑ์และบริการของพวกเขา ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าสื่อสังคมออนไลน์(Social network)จะเปิดโอกาสให้พวกเขามากกว่าทั้งการได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม และความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีความต้องการอย่างมากในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการมีส่วนร่วมภายในกลุ่มและต้องการแสดงตัวตนของตนเอง ดังนั้น พวกเขาจึงเห็นว่าสื่ออย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ที่จะให้พวกเขาได้แบ่งปันความคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งตรงข้ามกับทวิตเตอร์ จำนวนคำที่จำกัดถูกมองว่ามีความเหมาะสมน้อยกว่าที่จะเป็นสื่อสำหรับการนำเสนอความคิดเห็น แต่ทวิตเตอร์เหมาะเป็นสื่อกระจายข้อมูลข่าวสารมากกว่า

เมื่อลองวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในสังคมอย่างจริงๆจังๆแล้วเราจะเห็นได้ว่า New Media ที่เป็น Social Network นั้นเป็นช่องทางที่น่าสนใจไม่น้อยในการนำไปประยุกต์ใช้กับแผนธุรกิจทางการตลาดของบริษัทและนักธุรกิจต่างๆ ในสองสามปีที่ผ่านมา เว็บไซต์เครือข่ายสังคม (social network website) อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จึงกลายมาเป็นช่องทางที่นักการตลาดนำมาใช้ในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกันอย่างมากมาย กล่าวได้ว่าเป็นสื่อออนไลน์ที่มีการขยายตัวอย่างมากและมีบทบาทอย่างแพร่หลายสุดๆ

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสื่อสารการตลาดออนไลน์มองแนวโน้มเอาไว้หลายแง่มุมว่า เว็บไซต์เครือข่ายสังคมจะยังคงได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นไปอีก และจะมีการใช้งานอย่างจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งยังจะให้ความสะดวกและความอิสระในการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย ดังนี้

แนวโน้มที่ 1 เราจะได้เห็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีความจำเพาะเจาะจง (exclusive)มากขึ้น ทุกคนจะเข้ากับทุกกลุ่มสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก มีจำนวนสมาชิกเครือข่ายมากหน้าหลายตาขึ้นเรื่อยๆ และการแยกย่อยจับกลุ่มเฉพาะ ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย สังคมออนไลน์จึงเปรียบเหมือนพื้นที่ ที่รวบรวมผู้บริโภคหลากหลายประเภทเข้าด้วยกันบนพื้นที่เดียวกัน

แนวโน้มที่ 2 ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ๆในสหรัฐฯ เพียงไม่กี่รายที่ใช้สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ เป็นช่องทางในการสื่อสารหรือทำการตลาดอย่างจริงๆจังๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญจากสื่อแขนงต่างๆเชื่อว่าแนวโน้มการขยายตัวของการตลาดบนสื่อใหม่จะขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน อาทิเช่น ห้างเบสต์บายซึ่งขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในผู้ ค้าปลีกรายใหญ่ที่จัดตั้งบริการที่เรียกว่า ทเวลป์ฟอร์ซ (Twelpforce) ไว้บนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ เพื่อเป็นช่องทางให้พนักงานขายนับร้อยๆ คนสามารถติดต่อสื่อสาร ให้คำแนะนำ และตอบคำถามแก่ลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปที่ใช้ทวิตเตอร์และสนใจจะถามเกี่ยวกับ บรรดาอุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ  เบสต์บายยังได้จัดทำระบบพิเศษขึ้นมาติดตามเก็บข้อมูลของผู้ที่สนใจเข้ามา ติดต่อสอบถามผ่านบริการทเวลป์ฟอร์ซด้วย

แนวโน้มที่ 3 การทำธุรกิจผ่านสื่อเครือข่ายสังคมไม่ใช่เรื่องเล่นๆอีกต่อไป แม้แต่แอพพลิเคชั่นสนุกๆธรรมดายังสามารถกลายเป็นช่องทางธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง โฟร์สแควร์ (Foursquare) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งเจาะกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีเอาไว้สำหรับการเช็คอิน(Check-in) และเอาไว้หาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ เช่นร้านอาหารและเชื่อมโยงกิจกรรมของสมาชิกเข้ากับสถานที่ประกอบธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร ผับบาร์ ร้านค้า และสถานที่ท่องเที่ยว ยามใดก็ตามที่สมาชิกของเว็บแห่งนี้ไปเยี่ยมเยือนสถานที่ใดๆ พร้อมส่งข้อความแจ้งสู่เว็บ ซึ่งอาจจะเป็นการบอกเล่า แสดงความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำสมาชิกรายอื่นๆ เกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ สมาชิกก็จะได้รับแต้มสะสม ยิ่งไปมาก ไปบ่อย ก็ได้แต้มมากขึ้นเหมือนกับการเล่นเกม ใครไปเที่ยวสถานที่หนึ่งใดบ่อยกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ก็จะได้รับตำแหน่ง “Mayor” ประจำสถานที่แห่งนั้นจากทางเว็บไซต์ (จนกว่าจะมีสมาชิกคนอื่นมาทุบสถิติ)  และจะสามารถนำแต้มสะสมไปแลกสินค้าหรือบริการจากสถานที่เหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟฟรี 1 ถ้วย ไอศกรีม 1 โคน เบียร์หรือไวน์ 1 แก้ว แม้กระทั่งข้อเสนอที่พักค้างฟรี 1 คืน เป็นต้น แล้วแต่ว่าสถานที่นั้นจะประกอบธุรกิจอะไร เรียกว่ายิ่งไปบ่อย เที่ยวบ่อย ระดับขาประจำ ก็จะยิ่งได้รางวัลจูงใจมากยิ่งขึ้นเท่านั้น จะเห็นได้ว่า เว็บเครือข่ายสังคมลักษณะนี้เปิดช่องทางให้สถานที่ประกอบการธุรกิจเข้ามามี กิจกรรมร่วมด้วยเป็นอย่างมาก และลักษณะการให้แต้มสะสมก็เอื้อประโยชน์ให้กับสถานที่เหล่านั้นมีโอกาสเพิ่ม ลูกค้ามากขึ้นได้ใจทั้งผู้ให้บริการและลูกค้า

แนวโน้มที่ 4 องค์กรธุรกิจจำนวนมากจะหันมาให้ความสำคัญกับบทบาทของ เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ในเชิงพาณิชย์ ถึงขั้นมีการกำหนดให้การใช้สื่อใหม่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริษัทด้วย อย่างเช่น กลยุทธ์ Location Base Social tools อย่าง Foursquare ของธนาคารกสิกรไทย เป็นการ sync กันระหว่าง Retail เชิงพื้นที่และโลก Online โดยการให้ผู้ใช้ Foursquare Check-in เพียงครั้งเดียว แล้วทาง Kbank จะแจกหมอน Mayor นับเป็นกลยุทธ์แรกๆที่เปิดตัวสื่อใหม่กับธุรกิจต่างๆ หลังจากนั้นมาการใช้ Facebook Twitter และ สื่อใหม่ช่องทางต่างๆก็กลายเป็นวิธีในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรมต่างๆของบริษัท

แนวโน้มที่ 5 อุปกรณ์สื่อสารไร้สายจะมีบทบาทในเครือข่ายสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น มีตัวเลขสถิติชี้ว่า ประมาณ 70% ขององค์กรธุรกิจในสหรัฐฯ ห้ามพนักงานเข้าไปเล่นหรือใช้บริการของเว็บไซต์เครือข่ายสังคมในที่ทำงาน เมื่อเป็นเช่นนั้นพนักงานบริษัทที่ติดหนึบการเข้าสู่สังคมออนไลน์ก็ต้อง ดิ้นรนหาทางออก ซึ่งหนึ่งในช่องทางออกยอดฮิตก็คือการหลบเข้าไปเล่นผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนส่วนตัว และเมื่อหันมาดูยอดขายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็จะพบอีกว่า มียอดจำหน่ายพุ่งสูงขึ้น อย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่เคยเป็นเวลาว่างของทุกคนจากการอ่านหนังสือ นั่งฟังเพลง นั่งจิบกาแฟ ก็จะกลายมาเป็นเวลาพักเพื่อเข้าเว็บเครือข่ายสังคม หรือที่เรียกว่า social media break แทนดังนั้นแนวโน้มปีนี้ก็คือ ผู้คนจะใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางเข้าสู่เว็บเครือข่ายสังคม กันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

แนวโน้มที่ 6 การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารไม่จำเป็นต้องผ่านทางอี-เมล์เสมอไป ผู้คนจะหันมาส่งต่อข้อมูลข่าวสารถึงกันผ่านทางสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์มาก ขึ้นจนอาจจะกลายเป็นกระแสหลักแทนการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารถึงกันด้วยอี-เมล์ ปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงเข้ากับ Twitter และ Facebook เพื่อการง่ายและสะดวกต่อการอัพเดทข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูล เช่น แอพพลิเคชันการอ่านหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส บนหน้าจอโทรศัพท์ไอโฟน ได้ปรับเพิ่มบริการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้แอพพลิเคชัน ดังกล่าวสามารถส่งต่อหรือเผยแพร่ข่าวจากเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ไปให้เพื่อนฝูงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ได้อย่าง สะดวกง่ายดาย ในประเทศไทยก็มีเช่นกัน อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ที่นิยมในหมู่นักธุรกิจและคนทำงานต่างๆอย่าง เดอะเนชั่นและผู้จัดการออนไลน์ เป็นต้น

Social Network Marketing ก็เปรียบเสมือนกับ viral marketing(การแนะนำแบบปากต่อปาก) ที่มีการแนะนำและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เมื่อคนนึงเริ่มคนต่อๆไปก็จะนำไปแชร์ต่อจนเกิดกระแสขึ้นมาได้ โดยที่ผู้เริ่มไม่ต้องเสียแรงพีอาร์เลย เพียงแค่คิดเนื้อหา(Content)ให้โดดเด่นสะดุดตาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ Social Network Marketing จึงถูกเลือกให้เป็นช่องทางเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและองค์กรต่างๆ

โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่กำลังมาแรงในเรื่องการประชาสัมพันธ์ร้านค้าออนไลน์ ฝากข่าวประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมของแบรนด์ต่างๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโพสท์เกี่ยวกับการตั้งสเตตัสชิงรางวัล การฝาก Fanpage ร้านค้า มักจะมีผู้คนให้ความสนใจตามกดไลค์และแชร์ต่อเสมอ หรือการรีวิว(review)สินค้าทั้งด้านราคาและสรรพคุณต่างๆ ผ่านเว็บบอร์ดชื่อดังอย่างพันทิป ก็ทำให้เกิดกระแสได้ง่าย การใช้พลังของลูกค้าบอกต่อ จะถือว่าลูกค้าเป็นทรัพยากรที่สำคัญมาก เพราะลูกค้าที่ได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์และบริการแล้ว สามารถช่วยเสริมทีมงานการขายให้กับสินค้าได้ ยิ่งถ้าสินค้าดีจริงมักจะมีลูกค้าแนวร่วมที่จะเต็มใจที่จะแชร์ต่อบอกต่อเพื่อนๆ

ในกรณีตัวอย่างของแบรนด์ดังเลยคือ Starbucks เป็นสุดยอดแห่งความสำเร็จ ในการใช้ Facebook และ Twitter เพื่อการตลาด นั่นคือ Starbucks เน้นแสดงความคิดเห็นและพูดคุยออกมากับผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ความสำคัญในระดับปัจเจกชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกค้ารวมไปถึงพนักงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆผ่าน Blog ของบริษัท นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปโหวตความคิดเห็นที่ชื่นชอบ รวมไปถึงการเสริมความคิดเห็นของคนอื่นๆ หากความคิดใดที่ถูกโหวตมากที่สุด ก็จะนำไปปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ความคิดเห็นนั้น นั่นถือเป็นการมอบประสบการณ์ของแบรนด์ให้แก่ลูกค้า

การใช้ Facebook ของ Starbucks ที่ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างเครือข่ายด้วยการรักษาสมดุลระหว่างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และประสบการณ์ที่มอบให้แก่ลูกค้า สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดทั้งจาก Facebook และ Twitter ของ Starbucks คือการโต้ตอบกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้าไปตั้งกระทู้สนทนาที่น่าสนใจได้ ถือเป็น ส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม จากกรณีของ Starbucks จึงทำให้เห็นข้อดีว่า เหตุใดเราควรจะพึ่งสื่อใหม่ในการสร้างแบรนด์ ส่งเสริมการตลาด เพราะว่า

  1. สื่อใหม่เป็นเครื่องมือสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่เร็วและแรง สะดวกสบายในการควบคุม คือ ผู้บริหารสามารถควบคุมและดูแลได้ด้วยตัวเอง ทำให้สามารถส่งข้อความ ที่ตัวเองต้องการส่งได้เมื่อไรก็ได้ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของเราได้ทันที และยังสามารถสื่อสารออกไปในวงกว้างได้อีกด้วย ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพมากในยุคของสื่ออินเทอร์เน็ต
  2. ผู้บริหารสามารถความเป็นกันเองกับลูกค้า หรือคนในองค์กรได้ด้วยการใช้ Social Network โดยไม่จำเป็นต้องส่งเฉพาะเรื่องงานเข้าไปเท่านั้น การส่งเรื่องส่วนตัว หรือกิจกรรมต่างๆ ของตนในแต่ละวัน ก็จะทำให้ผู้รับข้อมูลรู้สึกเป็นกันเอง และรู้สึกใกล้ชิดกับผู้บริหารมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากมุมมองด้านการงานเพียงอย่างเดียว
  3. ลดการนินทาว่าร้ายจากคนในองค์กร เมื่อเราอยู่ในโลก Social Network เดียวกับคนในองค์กรของคุณ และทำให้คนในองค์กรคุณที่รู้ว่าคุณอยู่ในนี้เช่นเดียวกันจะ “มีการระมัดระวังการพูดจาหรือกล่าวร้ายต่อองค์หรือตัวคุณได้” เพราะมีหลายๆ ครั้งที่คนในองค์กรมักจะเขียนอะไรที่ไม่ดีต่อองค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือ ผู้บริหารที่ได้ทำงานด้วย เพราะส่วนใหญ่มักคิดว่า เขียนไปแล้ว ผู้บริหารหรือองค์กรจะไม่มีทางมาเจอข้อมูลเหล่านี้ และบางครั้งมักเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งการที่คุณอยู่ใน Social Network เดียวกับเค้า จะช่วยลดเหตุการณ์แบบนี้ลงไปได้มากๆ เลยทีเดียว ทำอะไรต้องคิดแล้วคิดอีกเพื่อผลดีแก่ตนเอง
  4. เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร หากผู้บริหารมีการใช้ Social Network เป็นช่องทางในการสื่อสารอีกวิธีหนึ่ง สื่อหรือสังคมก็จะเริ่มให้ความสนใจกับ การพัฒนาของผู้บริหารที่มีการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาใช้กับการสื่อสาร ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้บริหารและองค์กรมีความทันสมัย และภาพลักษณ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น
  5. เป็นช่องทางกระจายองค์ความรู้และข่าวสาร ผู้บริหารหลายๆคนเป็นคนเก่ง แต่มักไม่มีโอกาสในการถ่ายทอดความรู้ หรือเทคนิคอะไรดีๆ ดังนั้นการมี Social Network จะทำให้ผู้บริหารสามารถใช้เป็นช่องทางในการ กระจายความรู้ที่ตัวเองแก่คนทั่วไป และคนในองค์กรได้อีกด้วย เมื่อสื่อสารออกมา อาจจะเป็นความรู้สิ่งใหม่สำหรับคนอื่นๆ ได้อย่างมากและเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีให้คนอื่นอีกหลายๆคน
  6. สร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีใหม่ๆ Social Network จะทำให้คุณได้เปิดโอกาสการเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผ่าน Social Network และ Internet  ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมีมุมมองที่กว้างไกลมากขึ้น เมื่อคุณสามารถเข้าใจเทคโนโลยี และรู้จัก รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของคุณได้

แต่ก็มีหลายความเข้าใจผิดที่นักลงทุนและนักวางแผนการตลาดมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ Social Network Marketing ที่อาจจะเอาแต่โปรโมทสินค้าเพียวอย่างเดียวและมีแต่การทุ่มทุนเพื่อการคิดโฆษณาต่างๆอย่างมากมายจนลืมจุดที่สำคัญที่สุด คือการเอาใจใส่ลูกค้า

เนื่องจากในปัจจุบันช่องทางการสื่อสารนั้นมีมากมายหลายช่องทาง หากมองปริมาณสื่อเดิมๆ เราจะเห็นว่าโทรทัศน์ก็มีนับร้อยช่อง หรือนิตยสารก็มีมากมายหลายสิบฉบับ อีกทั้งยังมีสื่อใหม่ๆ อย่างเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่เข้า แบ่งสันปันส่วนความสนใจของคนเหล่านี้ไป รวมไปถึงเมื่อคนเหล่านี้สามารถหาข้อมูลข่าวสารด้วยตนเองได้โดยง่าย ย่อมทำให้โอกาสคล้อยตามสารการตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาจะเลือกเชื่อคนที่เขาไว้ใจคนที่เป็นเพื่อน และปรารถนาดีต่อเขาอย่างแท้จริงมากกว่า

นักการตลาดที่ดีในการใช้เครือข่ายสังคมนั้น จะต้องไม่ทำตัวเจ้ากี้เจ้าการหรือเป็นเจ้าของข้อมูลทางการตลาดแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ควรมองว่าเครือข่ายสังคมเป็นเพียงช่องทางการสื่อสาร มีเพียงแค่ส่งสารที่ตนเองต้องการสื่อและผู้บริโภคจะเชื่อตามนั้น นักการตลาดที่ดีต้องไม่คิดว่า การถาโถมเข้าไปยังช่องทางสื่อสารต่างๆ อย่างหนักหน่วงจะทำให้ผู้บริโภคถูกตอกย้ำและหันมาชื่นชมยินดีกับสินค้าและบริการของตนเองได้ ทั้งหมดนี้ไม่ควรคิด!

อันที่จริงแล้ว การเกิดของสังคมออนไลน์นั้น ล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานของคนที่มีความสนใจร่วมกัน ชอบเรื่องเดียวกัน คุยกันถูกคอ รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยกัน พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารต่างๆ อย่างเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทนมาก่อน เมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ก็จะเกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกลุ่มมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งที่ว่ากลุ่มมีอิทธิพลสูงต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การแต่งตัว การพักผ่อน และอื่นๆ ดังนั้นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ มักจะเป็นการให้บริการที่ดีเอาใจใส่ มีการเข้าถึงได้ และแลกเปลี่ยนกันได้ ผู้บริโภคต้องการเห็นสิ่งที่ใหม่ สด หรือแตกต่างจาก แบรนด์ ไม่ใช่การนำข้อมูลเดิมที่พวกเขาได้รับจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแบรนด์ มาปรับปรุงใหม่ พวกเขาต้องการให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นฟอรั่มซึ่งประสบการณ์จากแบรนด์จะถูก พูดถึงอย่างเปิดเผยและมีการอ้างอิงด้วย มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับฟีดแบ็คที่ซื่อสัตย์ ไม่ใช่การพูดคุยที่ถูกควบคุมโดยแบรนด์ และสามารถสร้างความไว้วางใจโดยการเปิดเผยและซื่อสัตย์ ความโปร่งใสเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ หากแบรนด์ต้องการมีชื่อเสียงและได้รับความนิยม พวกเขาควรได้รับความไว้วางใจ

นักการตลาดควรนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่า ผู้บริโภคมักตอบสนองต่อแบรนด์ที่นำเสนอสิ่งที่เป็นความจริงและจับต้องได้ โดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน ในขณะที่ส่วนลดและคูปองเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความไม่น่าเชื่อถือ ข้อมูลที่มีคุณค่าและเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะหรือข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับผู้บริโภค ที่สำคัญมากคือ มีส่วนร่วม ผู้บริโภคต้องการเห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความสนใจ ความปรารถนาและความต้องการของ พวกเขา ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้บริโภคจะวิพากษ์วิจารณ์หรือติเตียนข้อมูลของพวกเขา ควรจะปล่อยให้มีการติและชมเท่าๆกัน และการติดต่อพูดคุยเหมือนกับเพื่อน ไม่ใช่ในฐานะนิติบุคคล ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่สื่อสารด้วยภาษาธรรมดา ๆ ที่เข้าใจได้ง่ายเหมือนกับพูดคุยสนทนากัน พวกเขาไม่ต้องการการพูดคุยทางด้านเทคนิคหรือการชักจูงให้ซื้อสินค้า และควรเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคค้นพบสิ่งที่แตกต่างจากแคมเปญสื่อทั่ว ๆ ไป คือผู้บริโภคไม่ต้องการรู้สึกว่าแบรนด์กำลังมุ่งส่งข้อมูลมายังพวกเขา พวกเขารู้สึกว่าแบรนด์จะใช้การโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ที่ “คุกคาม” และ “รบกวน” พวกเขา – ดังนั้นจึงไม่ควรใช้โฆษณาที่เป็นเมล์ขยะหรือมีเนื้อหาที่คุกคาม เป็นอย่างแรง!

Social network marketing ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อย และการแข่งขันก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน แต่ผลตอบแทนนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับวิธีใช้ของคุณเอง.


Leave a comment