cujrnewmedia

Just another WordPress.com site

การตลาดออนไลน์ : เมื่อคนธรรมดาเป็นใหญ่ #กันตพร สวนศิลป์พงศ์ 5245008128

on February 25, 2012

 กันตพร สวนศิลป์พงศ์ 5245008128

การตลาดยุคออนไลน์ : เมื่อคนธรรมดาเป็นใหญ่

              โลกเปลี่ยนไปเมื่ออินเตอ์เน็ตเข้าได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารที่เคยมีมาแต่เดิม อินเตอร์เน็ตได้เข้าแทรกซึมในวิถีชีวิตผู้คน และเป็นช่องทางในการสื่อสารที่สำคัญ ซึ่งนั่นหมายความรวมถึงโลกธุรกิจและการตลาดด้วยเช่นกัน หากดูกันง่ายๆ เมื่อก่อนตราสินค้าหรือแบรนด์อาจไม่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง แต่เดี๋ยวนี้ นอกจากเว็บไซต์แล้ว อาจยังต้องมีเพจเฟซบุ๊ก แอคเคานต์

              ทวิตเตอร์มาเป็นลูกคู่แถม โซเชียลมีเดียเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เล่นๆ สื่อใหม่กลายเป็นช่องทางสื่อสารการตลาดที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน หากแต่นอกเหนือจากสื่อในมือขององค์กรเองแล้ว สิ่งที่นักการตลาดต้องจับตามองคือสื่อในมือคนธรรมดา..ที่อาจไม่ใช่คนธรรมดาบนโลกออนไลน์

             ในยุคที่การโฆษณาเริ่มถูกพูดถึงว่ากำลังถดถอย คนไม่ให้ความเชื่อถือกับโฆษณาเหมือนเมื่อก่อน การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตผ่านช่องทางส่วนตัวอย่างเช่น เว็บบล็อก ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่แอพลิเคชั่นอย่าง instagram กลับเป็นสิ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ ยกตัวอย่างการคลิปวิดิโอการสอนแต่งหน้ารายการ โมเมพาเพลิน ซึ่งเผยแพร่โดยอดีตนักร้องวัยรุ่น โมเม นภัสสร บูรณศิริ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพูดถึงและสร้างความนิยมให้เครื่องสำอางบางชิ้น ทำให้ผู้คนอยากได้มาเป็นเจ้าของกันยกใหญ่ ซึ่งความดังของโมเมพาเพลินนั้น คำบรรยายบน channel Youtubeที่ว่า รายการสอนแต่งหน้าและพูดคุยเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับเครื่องสำอางค์และความงามที่ hot ที่สุดทั้งในและนอกโลกอินเตอร์เน็ต แค่นี้นะ :-)” ก็คงไม่เกินจริงสักเท่าไหร่

             ตัวอย่างของโมเมพาเพลินนั้นคือการสื่อสารโดยอดีตคนดังซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ก่อนแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้น คนธรรมดาซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคม ก็กลายมาเป็นเซเลบในโลกออนไลน์และมีอิทธิพลต่อสินค้าในตลาดได้เช่นกัน ผ่านการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวถึงสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนเริ่มมีคนติดตามเป็น follower เกิดความน่าเชื่อถือขึ้นในสังคมนั้นๆ รูปแบบการสื่อสารเช่นนี้อาจเกิดขึ้นบนบล็อก หรือบนเว็บบอร์ดก็เป็นได้


              ยกตัวอย่างเช่น บล็อกของคุณปูเป้ (PuPe_so_Sweet, pupesosweet.bloggang.com) ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับการดูแลผิวหน้า ผลิตภัณฑ์การดูแลผิวหน้า เครื่องสำอางบำรุงและการทำความสะอาดต่างๆ บนหน้าเว็บบล็อกจะมีการแยกรีวิวเครื่องสำอางตามยี่ห้อต่างๆมากมาย คุณปูเป้กลายเป็นกูรูที่นักการตลาดส่วนหนึ่งให้ความสนใจ เพราะสินค้าชิ้นใดที่ถูกพูดถึงหรือได้รับการแนะนำก็ย่อมมีผู้คนให้ความสนใจไปลองใช้บ้าง บนหน้าบล็อกเมื่อเปิดเข้าไปก็จะพบว่ามีการลงโฆษณาแยกไว้ นอกจากนี้ผู้คนยังถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องการดูแลผิวหน้ามากมายจนต้องมีการจัดหน้าคำถามไว้ต่างหาก

              ตัวอย่างที่สองคือเว็บไซต์ jeban (จีบัน) (www.jeban.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับเครื่องสำอางและการแต่งหน้า กับสโลแกนเว็บว่า ‘Makeup is Magic! เว็บสุดฮิปรวมเทคนิคการแต่งหน้าและกรุเครื่องสำอางเว็บไซต์จีบันนี้มีจุดเริ่มต้นจากการสอนแต่งหน้าบนเว็บบอร์ด Pantip ของเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งเรียกกันง่ายๆว่า ป้าจีนคุณป้าจีนคือผู้หญิงธรรมดาซึ่งมีความรักในการแต่งหน้าที่มาพูดคุยแบ่งปันเทคนิคต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่กลุ่มคนติดตามได้เสนอว่าอยากให้เปิดเว็บไซต์ คุณป้าจีนก็ได้ตัดสินใจเปิดเว็บไซต์เป็นของตนเอง บนเว็บไซต์จีบันนี้ก็จะมีทั้งส่วนที่รีวิวเครื่องสำอางโดยสมาชิก มีการจัดประกวดแต่งหน้า ทุกเดือน (How-to contest) ซึ่งจะมีการกำหนดธีมเป็นโจทย์ขึ้นมา มีหัวข้อเนื้อหาเกี่ยวกับความสวยความงาม การทำผม แฟชั่นเครื่องแต่งกาย ให้คนได้ติดตามตามความสนใจ เนื้อหาจะมีที่มาจากทีมงานซึ่งบางคนก็เป็นกูรูในด้านนั้นๆ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการทำผมก็จะเป็นช่างทำผมที่มาเล่าสู่กันฟัง สมาชิกบนเว็บไซต์ยังมีเว็บเบอร์ดไว้สนทนาปรึกษาปัญหาต่างๆทั้งเรื่องชีวิตและเรื่องความสวยงาม และแน่นอนว่าบนเว็บไซต์ก็จะมีการลงข่าวและประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอจากผลิตภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อ

                นี่แสดงให้เห็นว่า นี่คือกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ที่นักการตลาดไม่อาจมองข้ามได้ กลุ่มสังคมบล็อกที่พูดถึงเรื่องเครื่องสำอางนั้นถือว่าใหญ่โตเป็นอันดับต้นๆในเครือข่ายบล็อกของประเทศไทยเลยทีเดียว

                นอกเหนือจากเรื่องผู้หญิงๆแล้ว ในแวดวงสินค้าอื่นๆก็สามารถเห็นพลังของกลุ่มคนธรรมดาแห่งโลกออนไลน์ได้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสินค้าภาพยนตร์

                ห้องเฉลิมไทยบนเว็บบอร์ด Pantip ถือเป็นห้องคึกคักอีกห้องหนึ่ง ห้องเฉลิมไทยจะมีการแยกห้องย่อยตามหมวดความสนใจ ห้องย่อยหนึ่งในนั้นก็คือห้องภาพยนตร์ต่างประเทศ และ หนังไทย การพูดคุยในห้องก็จะมีทั้งการพูดคุยธรรมดา ไถ่ถามความคิดเห็นกัน หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ต่างๆ สิ่งสำคัญของห้องเฉลิมไทยนี้คือการรีวิวหนัง (ซึ่งมีทั้งแบบเฉลยและไม่เฉลยเนื้อเรื่อง ; ศัพท์ที่ใช้คุยเรียกกันว่า spoil) ซึ่งเวลามีภาพยนตร์เข้าใหม่ สมาชิกส่วนหนึ่งซึ่งไปดูมาแล้วก็จะทำการมารีวิวหนัง แสดงความคิดเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบ หากการรีวิวนั้นมีลักษณะการเขียนที่ดี มีคุณค่า หรืออาจเป็นรีวิวที่อ่านแล้วสนุกสนานเฮฮาเป็นที่ถูกใจ ก็จะมีการโหวตเป็นกระทู้แนะนำ ทำให้เกิดกระแสการบอกปากต่อปาก หรือสมาชิกคนไหนยังลังเลใจที่จะตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องไหนก็จะเข้ามาถามความคิดเห็นว่าคิดว่าหนังเป็นอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่ดี

                ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ได้รับผลดีจากการบอกปากต่อปากคือ ปัญญาเรณูภาคแรก ซึ่งเข้าฉายไปเมื่อปีก่อน แม้กระแสจะไม่ได้แรงมากและลักษณะภาพยนตร์ซึ่งมีบรรยากาศต่างจังหวัดและเด็กจะไม่ใช่ภาพยนตร์กระแสหลักของประเทศไทย แต่การแนะนำกันบนเว็บบอร์ดแห่งนี้ก็ทำให้ปัญญาเรณูกลายเป็นภาพยนตร์ที่กลุ่มคนดูหนังให้ความสนใจพอสมควรเลยทีเดียว

                บล็อกเกอร์ผู้หนึ่งซึ่งมีบทบาทเกี่ยวกับภาพยนตร์ทั้งในและนอกเว็บบอร์ดพันทิปคือบล็อกเกอร์ชื่อ ผมอยู่ข้างหลังคุณบุคคลนี้จะเขียนรีวิวภาพยนตร์ซึ่งตนเองได้ดูมาโดยทำการรีวิวไปพร้อมๆกับการวิเคราะห์หนังในเชิงจิตวิทยาและสังคม (เขาเป็นจิตแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง) จากสไตล์การเขียนซึ่งอ่านแล้วได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้ทำให้การรีวิวของเขามีกลุ่มผู้ติดตามขาประจำ และยังแตกยอดออกมามีหนังสือเป็นของตนเอง อาทิ เจ็บเพราะรัก และ ความสุขที่ท่านเรียกไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้ โดยการเขียนนั้นจะมีการสอดแทรกถึงหนังเป็นสไตล์เฉพาะ เขายังเป็นเจ้าของรางวัล Thailand Blog Awards 2010 สาขา Best Writing และรางวัล Bloggang Popular Award สาขาภาพยนตร์ 5 ปีซ้อน และเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร All และ Flimax อีกด้วย

                นายปัณณทัต พรหมสุภา ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ค่ายพาราเม้าส์พิคเจอร์ ยูนิเวอร์แซล และดรีมเวิร์คแสดงความเห็นกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า จุดเปลี่ยนของตลาดหนังคือการที่คนดูไม่เชื่อนักวิจารณ์ แต่จะเชื่อคนที่ไปดูมาแล้วบอกต่อมากกว่า ส่วนประธานกรรมการบริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ หรือ จีทีเอช (GTH) นายวิสูตร พูลวรลักษณ์ กล่าวว่าโซเชียลมีเดียมีผลกับหนังมาก จึงต้องเข้มข้นกับการผลิตภาพยนตร์มากขึ้น อะไรก็สู้ปากคนไม่ได้ อย่างเรื่อง กวนมึนโฮ ก็ได้จากตรงนี้เยอะ แต่ถ้าหนังไม่ดี มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ดีไปแล้ว เราก็ไปแก้อะไรไม่ได้ เมื่อก่อนเรายังซ่อนๆ ได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว อะไรที่บวก ก็จะกลายเป็นบวก+บวก อะไรที่ลบ ก็จะกลายเป็นลบลบ

                 นอกเหนือจากแวดวงภาพยนตร์ หัวข้อเรื่องอื่นๆอย่าง สินค้าไอที อาหารการกิน หรือการท่องเที่ยว การพูดคุยสนทนาบนเว็บไซต์ เว็บบอร์ด และบล็อกก็มีส่วนทำให้เกิดกระแสได้เช่นกัน สมัยนี้ ใครไปทานอะไรก็มักถ่ายรูปเก็บไว้แล้วเอามาโพสต์ลงต่อ ใครเป็นนักกินก็ทำรีวิวให้คนอ่านน้ำลายไหลตามๆกันไป ใครไปเที่ยวก็กลับมาเล่าเรื่องราวผ่านภาพถึงการเดินทางของตนเอง (ลองเข้าไปดูในPantip ห้อง Blue Planet) คนที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นก็เกิดความสนใจที่จะลองไปกินไปเที่ยวดูบ้าง และแน่นอนว่า หากคำวิจารณ์ที่ปรากฎเป็นด้านลบ เจ้าของแบรนด์ ร้าน หรือผลิตภัณฑ์ก็ต้องรับผลกันไป

                เรียกได้ว่า โซเชียลเน็ตเวิร์คในโลกใหม่นี้ ทำให้กลายเป็นยุคทองของ Word of mouth หรือ Viral marketing ใครเห็นใครชอบแล้วเอามาพูดถึงต่อ เอามาแชร์กันต่อก็มีผลต่อสินค้าและแบรนด์ได้ทั้งนั้น เพราะนอกจากการพูดถึงในส่วนของเว็บบล็อก เว็บไซต์ ยังมีการนำมาแชร์ต่อบนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ทำให้ข่าวสารนั้นแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างมากขึ้นไปอีก

                นอกเหนือจากเว็บไซต์ และเว็บบล็อกต่างๆ ในยุคที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทำได้ผ่านมือถือ แอพลิเคชั่นต่างๆก็มีส่วนในการตลาดเช่นกัน เช่น แอพลิเคชั่น Foursquare ซึ่งมีฟังก์ชันในการเช็คอินจุด Location ที่บุคคลอยู่ Foursquare นี้กลายเป็นกิจกรรมทางการตลาดอย่างหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน เช่นการเช็คอินที่ร้านแล้วนำไปยื่นให้พนักงานเพื่อรับส่วนลด เป็นต้น แอพลิเคชั่นที่ผู้เขียนอยากนำมาพูดถึงก็คือ Instagram

                 Instagram (อินสตาแกรม)หรือเรียกย่อๆว่า ig คือแอพลิเคชั่นถ่ายรูปซึ่งทำให้การถ่ายรูปเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว พร้อมไปด้วยความสวยงามซึ่งผู้ใช้สามารถตกแต่งรูปถ่ายผ่านการใช้ Filter ได้เอง รูปถ่ายจะถูกอัพโหลดแบ่งปันออกมาให้ Followerได้ดูกัน จากคำว่า Photographerจึงมีศัพท์ปรากฎขึ้นใหม่ซึ่งมีความหมายบ่งบอกถึงตากล้องมือถือที่ใช้ Instagramในการถ่ายรูป เช่น phonegrapher, iphonesia, igers, instagrammerเป็นต้น Instagramมียูเซอร์ใช้บริการถึง 15 ล้านคน และมีการอัพโหลดรูปถ่ายถึง 400ล้านรูปภายในระยะเวลาสองปี

                 ใครเป็นคนดังก็มี Follower เยอะเป็นธรรมดา อย่างเช่น พลอย เฌอมาลย์ ซึ่งมียอด follower หลักแสน แต่นอกจากคนดังแล้ว คนธรรมดาเองก็สามารถมีfollowerในจำนวนหลักสูงๆได้เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเซเลบโลกออนไลน์ในประเภทต่างๆดังที่กล่าวมา หรืออาจเป็น Instagrammer ซึ่งมีฝีมือการถ่ายและแต่งรูปสวยงาม เช่น แอคเคานต์ zwingzet ซึ่งเธอบรรยายตัวเองว่าเป็น a Happy Thai iPhonegraphy iger รูปถ่ายของเธอส่วนใหญ่จะเป็นภาพธรรมชาติที่ใหความรู้สึกสบาย สวยงาม และผ่อนคลาย เธอมียอดfollowerหลักหมื่นเลยทีเดียว

                กรณีตัวอย่างที่ Instagramเริ่มเข้าไปมีเอี่ยวกับสายงานธุรกิจคือ แอคเคานต์ @Bobsuicide เธอเป็นเด็กสาวไฮสคูลที่โพสต์รูปส่วนใหญ่เป็นรูปตัวเธอเองในอิริยาบถที่เซ็กซี่ เธอมีfollowerเยอะในหลักสี่พัน ที่น่าสนใจคือ ในรูปถ่ายของเธอนั้นจะมีสินค้าจำพวกตุ๊กตาจากภาพยนตร์เรื่อง Star Warsเป็นพร็อบประกอบ ข่าวว่าเมื่อภาพนั้นถูกพูดถึงมากขึ้น สินค้าที่ว่าก็จะมียอดขายสูงขึ้นตามไปด้วย จนเจ้าของแบรนด์ต่างๆสนใจว่าจ้างเธอให้ถ่ายภาพร่วมกับสินค้าของพวกเขาเพื่อเป็นการโปรโมต

                ในบทความ 5 Awesome Examples of Instagram Marketing From Real Brands เขียนโดย Lauren Sorenson ได้ยกตัวอย่างถึงแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ Instagram เธอแสดงความคิดเห็นว่า การสื่อสารผ่าน IG นั้นทำให้มีการสอดแทรก อารมณ์อยู่ในการสื่อสารด้วย ในขณะที่ตัวอักษรธรรมดาอาจทำไม่ได้

กรณีที่เธอยกตัวอย่างขึ้นมาคือ

– Starbucks แบรนด์แรกๆที่หันมาใช้ IG ในการทำการตลาด (ปัจจุบันมียอด follower ราวสองแสนคน) บริษัทจะโชว์ภาพกระบวนการคัดเลือกกาแฟรสชาติใหม่ๆให้เห็นกัน ซึ่งผู้ใช้ก็สามารถคอมเม้นท์ลงไปได้

– Red Bull ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ในกิจกรรมกีฬาextremeต่างๆก็อัพโหลดภาพกิจกรรมเหล่านั้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พบเห็นได้

– Marc Jacobs แบรนด์แฟชั่นราคาแพงมีไอเดียเก๋ๆในการให้ followerได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ เช่นการถามfollowerในวันหยุดให้อัพโหลดรูปช่วงเวลากับครอบครัวของตัวเองและ tag #marcfam ด้วย ทางแบรนด์ก็จะนำรูปภาพของfollowerที่ส่งเข้ามาทำเป็นรูป collage

– Tiffany & Co. บริษัทเครื่องประดับสุดหรูเลือกใช้ Instagram เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสินค้า โดยการอัพโหลดภาพรายละเอียดที่ซับซ้อนในการผลิตแหวนเพชรและเครื่องประดับต่างๆ แฟนๆของแบรนด์ก็จะได้เห็นภาพรายละเอียดเบื้องหลังเบื้องลึกกว่าจะมาเป็นเครื่องประดับสวยๆอย่างที่เห็น รวมไปถึงภาพสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้วพร้อมพื้นหลังสีฟ้าเขียวสัญลักษณ์ของแบรนด์

– General Electric จะแสดงภาพที่แตกต่างออกไปจากผลิตภัณฑ์บริษัท แฟนๆจะได้เห็นภาพเครื่องกลที่สร้างความประทับใจและเป็นสิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดเฟ้นหา Instagrapher คนต่อไป โดยการใช้hashteg #GEInspiredMe และโพสขึ้นบนเฟซบุ๊คเพื่อทำการโหวต

                จากข้อมูลข้างต้น นอกเหนือจากบริษัทจะต้องให้ความสนใจกับเหล่า opinion leader และ influencerแล้ว บริษัทยังต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าคนธรรมดา โดยเข้าไปใกล้ชิดให้มากขึ้น ใช้มิติ ความใกล้ที่อินเตอร์เน็ตเอื้อเฟื้อให้ให้เป็นประโยชน์ เป็นช่องทางติดต่อสร้างความสัมพันธ์ต่อไปได้อีก ในทางตรงกันข้าม แบรนด์ไหนทำการตลาดออนไลน์แล้วทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีก็ต้องพิจารณากันไป เพราะอาจทำให้ดูล้าสมัย หรือไม่น่าเชื่อถือได้

                แต่ทำไมการตลาดออนไลน์ผ่านเซเลบในโลกออนไลน์ถึงมีพลังมากมายเหลือเกิน? เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ kokoyadi.com ได้แสดงความทัศนะไว้ว่า เป็นเพราะการสื่อสารนั้นเป็นการสื่อสารพูดคุยผ่าน ประสบการณ์มนุษย์ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารบนโฆษณาหรือข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งหลายแหล่ ผู้คนจะเชื่อข้อมูลพื้นฐานของโฆษณา แต่จะไม่ได้เชื่อว่าใช้แล้วจะดีหรือไม่ดี

                อีกส่วนหนึ่งคือ ในโลกออนไลน์นั้น การแบ่งปัน การแชร์กันเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ข่าวสารแพร่กระจายได้ต่อไปนอกเหนือจากสิ่งเผยแพร่จากโฆษณา ข่าวประชาสัมพันธ์หรือการลงทุนของบริษัท การแชร์นี้จะถูกเห็นโดยคนที่ใกล้ชิดกัน อยู่ในแวดวงสังคมเดียวกัน อาจมีความชอบคล้ายคลึงกัน

              ทั้งนี้ การตลาดออนไลน์ซึ่งกระทำผ่านคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ด้านบวกเท่านั้น ด้านลบเองก็มีเช่นกัน เช่น กรณีบรรดาบิวตี้บล็อกเกอร์ทั้งหลายที่ได้รับการว่าจ้าง หรือ การส่งผลิตภัณฑ์ให้เพื่อให้ทำรีวิวสินค้านั้นๆ ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากมาย (หรือที่เรียกกันว่าดราม่า) เพราะสิ่งที่ทำให้บิวตี้บล็อกเกอร์เหล่านี้โด่งดังและเป็นที่รู้จักสนใจในกลุ่มผู้คนคือความรู้สึกว่าบล็อกเกอร์เหล่านี้สื่อสารในฐานะผู้บริโภคด้วยกัน การแทรกแซงของการทำการตลาดผ่านบล็อกเกอร์อาจทำให้บล็อกเกอร์เหล่านี้สูญเสียจุดยืนและสูญเสียความน่าเชื่อถือ เพราะผู้อ่านไม่ทราบว่าสิ่งที่เขียนรีวิวเป็นความจริงหรือไม่

              ‘คุณปูเป้จากบล็อกPupe_so_Sweetเลือกทางออกของตัวเองคือ การตกลงกับเจ้าของผลิตภัณฑ์แต่แรกว่าจะเขียนรีวิวอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเข้าข้างหรือ อวยกัน ซึ่งหากเจ้าของสินค้ายังมั่นใจว่าสินค้าของตนนั้นมีคุณภาพดีก็จะยังเลือกส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปให้รีวิว เพราะความน่าเชื่อถือของบล็อกเกอร์หรือกูรูคนธรรมดานั้นมีมากในกลุ่มผู้บริโภค

              บนเว็บบอร์ดจีบันเองก็มีกลุ่มคนที่แฝงเข้ามาโฆษณาสินค้าต่างๆ จึงมีมาตรการที่ทางเว็บไซต์แจ้งและรู้กันเองในหมู่สมาชิก คือหากสมาชิกพบเห็นให้แจ้งแอดมินเพื่อทำการปิดทางกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ให้เข้ามาใช้เว็บบอร์ดได้ การโฆษณาบนเว็บไซต์จีบันหรือเว็บบล็อกคุณปูเป้นั้นจะมีลักษณะที่ชัดเจนว่าเป็นกาโฆษณา ไม่ใช่การโฆษณาแฝง

               นอกจากนี้ กรณีโฆษณาแฝงยังพบเห็นในสังคมเว็บบอร์ด อย่างห้องคนที่สนใจภาพยนตร์ในเว็บไซต์Pantipนั้น หากมีคนที่ตั้งกระทู้แล้วคำพูดคำจาดูเชียร์หนังสุดๆหรือผิดปกติ ก็อาจมีสมาชิกที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นหน้าม้าทำให้ยูเซอร์นั้นถูกโจมตีในที่สุด

              เรียกได้ว่า การตลาดออนไลน์นั้นเปิดช่องทางใหม่ๆในการสื่อสารการผู้บริโภค ซึ่งช่องทางใหม่นี้ก็เป็นได้ทั้งโอกาสและภัยสำหรับบริษัทต่างๆ โอกาสที่จะมาถึง อาจหมายถึงการสร้างสรรค์การสื่อสารที่มีเสน่ห์ แปลก ไม่ซ้ำใคร เป็นที่สนใจของผู้คน แต่หากทำผิดพลาดแล้ว โอกาสที่ความผิดนั้นจะถูกมองข้ามก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นมีสายตามากมายที่จะเป็นพยานทันทีที่ข้อมูลข่าวสารนั้นหลุดออกไป ที่แน่ๆคือ อินเตอร์เน็ตที่ทำให้บทบาทของ คนธรรมดามีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทางการตลาดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ละแบรนด์จะอัพเดทรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างไรเราก็คงจะได้เห็นกันต่อไป

อ้างอิง

– Instagram and the Fashion industry http://www.postano.com/blog/instagram-and-fashion

– 5 Awesome Examples of Instagram Marketing from Real Brands http://blog.hubspot.com/blog/tabid/6307/bid/30908/5-Awesome-Examples-of-Instagram-Marketing-From-Real-Brands.aspx

ค่ายหนังแห่ทุ่มนิวมีเดียสร้างกระแสหนัง http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=106287:2012-02-07-02-32-19&catid=106:-marketing&Itemid=456

หลากวิธีหาเงินบน Instagram
http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=93954

เมื่ออินสตาแกรมเป็นมากกว่าแอพลิเคชั่นถ่ายรูป http://hilight.kapook.com/view/65868


Leave a comment